ลูกแหวะนมเกิดจากอะไร พ่อแม่มือใหม่รับมืออย่างไรดี

ลูกแหวะนมเกิดจากอะไร รับมืออย่างไรให้แหมะสม

เชื่อว่าปัญหาลูกแหวะนมหรืออาเจียน เป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายๆ คนรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อยว่าลูกเกิดความผิดปกติอะไร จะได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาการแหวะนมจัดเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดไปจนถึงทารกช่วงวัยก่อน 3 เดือน ซึ่งโดยทั่วไป จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 3-12 เดือน อย่างไรก็ตาม อาการลูกแหวะนมอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ควรได้รับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมจากกุมารแพทย์เช่นกัน

ลูกแหวะนมเกิดจากอะไร ?

โดยปกติหลังจากที่ทารกกลืนนม น้ำนมจะไหลผ่านหลอดอาหารสู่กระเพาะอาหาร โดยมีหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคอยเปิดและปิดเพื่อให้นมไหลเข้าสู่กระเพาะอาหาร แต่ในวัยทารกโดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จะพบว่ากลไกการเปิดปิดของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจะยังเติบโตและทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้นมไหลย้อนกลับมาและนำไปสู่อาการแหวะนมได้

นอกจากนี้อาการลูกแหวะนมยังอาจเกี่ยวข้องปัจจัยอื่นๆ เช่น การนอนหงายและงอท้องทารกเป็นระยะเวลานาน การดื่มนมเร็วหรือมากเกินไป การจัดท่าหลังการทานนมที่ไม่เหมาะสมและการคลอดก่อนกำหนด แต่ในบางกรณีอาการลูกแหวะนมอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างที่มีความรุนแรง เช่น

  • โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)
  • ภาวะ Food intolerance หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสารอาหารบางชนิดได้
  • ภาวะทางเดินอาหารตีบแคบ เช่น Pyloric Stenosis เป็นภาวะที่ส่งผลให้กระเพาะอาหารไม่สามารถลำเลียงนมไปยังลำไส้เล็กได้
  • ภาวะแพ้อาหารบางชนิด เช่น นมวัว
  • โรคหลอดอาหารอักเสบ เช่น Eosinophilic Esophagitis
  • โรคติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในทางเดินอาหาร

รับมืออย่างไรให้เหมาะสมเมื่อลูกแหวะนม

  • สังเกตอาการเพื่อแยกแยะอาการแหวะนมกับอาเจียน หากอาเจียนพุ่ง และน้ำหนักมีปัญหา ควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
  • จัดท่าให้ลูกนั่งตัวตรงขณะให้นมหรือป้อนอาหาร รวมถึงให้นั่งพักหลังจากดื่มนมหรือรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาทีก่อนจะทำกิจกรรมอื่นที่ต้องขยับตัวมาก
  • ปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารของลูก โดยแบ่งปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่เพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้นแทน
  • ในกรณีที่ลูกดื่มนมแม่ ให้คุณแม่หมั่นสังเกตอาหารที่ตนเองรับประทานในแต่ละมื้อ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่คาดว่าก่อให้เกิดอาการแหวะนมของลูก หรืออาจไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสม
  • ลองเปลี่ยนสูตรนม เนื่องจากทารกบางคนอาจแพ้นมวัว
  • ควรให้เด็กกินนมในท่าที่หัวสูง
  • หลังกินนมแล้ว ให้จับนั่งหรืออุ้มพาดบ่าให้เรอ
  • แนะนำให้นอนในท่านอนคว่ำหัวสูง ที่นอนตึง ช่วยลดอาการได้
  • หากเด็กยังมีอาการอยู่เรื่อยๆ ควรพิจารณาให้อาหารเสริม ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เพราะอาหารเสริมจะข้นทำให้การไหลย้อนเกิดขึ้นได้ยากกว่า
  • หากปฏิบัติแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจได้

ทั้งนี้ หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการลูกแหวะนมยังไม่ดีขึ้น หรือ มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียนเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีดำ อาเจียนอย่างรุนแรง อุจจาระปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น ไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน หายใจมีเสียงหวีด ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

นพ.วัชรินทร์ อยู่สำราญ
กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด
Privacy Settings