ต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตา ซึ่งเลนส์ตาจะอยู่ด้านหลังของม่านตา ปกติแล้วควรมีลักษณะใสแต่เมื่อเสื่อมแล้วจะกลับมีสีขาวขุ่น หรือขาวอมน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ไปขัดขวางทางเดินของแสง นำไปสู่การลดลงของวิสัยทัศน์ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุตาบอดอันดับหนึ่งทั้งของประเทศไทยและของโลกอีกด้วยค่ะ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงคืออะไรได้บ้าง
จริงๆ แล้วโรคต้อกระจกมีหลายสาเหตุ ไม่ได้พบเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น สามารถพบได้ในเด็กเล็กหรือเด็กแรกเกิดด้วยนะคะ
- โดยมากมักเป็นจากการเสื่อมตามวัย (ประมาณ 80%) จากอายุที่มีมากขึ้น เลนส์ตาก็อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด ก็มีอายุการใช้งานเช่นกัน
- บางคนมีอุบัติเหตุต่อดวงตา เช่น ถูกกระแทกที่ตา ก็ทำให้เลนส์ขาวขุ่นเร็วขึ้น
- มีการอักเสบในลูกตาทั้งจากติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
- ผลจากยาบางชนิด เช่น การใช้ยา steroid ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหยอด รับประทาน หรือพ่นก็ตาม มีผลทำให้เป็นต้อกระจกได้
- การได้รับรังสีโดยมากคือรังสี Ultraviolet (UV) จากแสงแดด หรือได้รับการฉายรังสีบริเวณตาบ่อยๆ
- การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
- โรคต่างๆ เช่น คนเป็นเบาหวาน มีโอกาสที่เลนส์ตาจะขุ่นได้เร็วกว่าคนทั่วไป
- โรคทาง metabolic ซึ่งมักเป็นกรรมพันธุ์ด้วย เช่น โรค Down" s syndrome, marfan syndrome การทำงานน้อยลงของต่อม parathyroid เหล่านี้ เป็นต้น
- โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา เช่น หัดเยอรมัน ใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัส CMV, syphilis ทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นโรคต้อกระจกแต่กำเนิดได้ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันทีแต่แรกเกิด ดังนั้นประวัติครอบครัวและประวัติเกี่ยวกับการฝากครรภ์จึงมีความสำคัญช่วยในการวินิจฉัย
อยากทราบอาการและอาการแสดงเป็นอย่างไร
- ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงอย่างช้าๆ คล้ายมีฝ้าหมอกบังตา โดยที่ไม่มีอาการปวดตา
- มองเห็นภาพสีซีด จางลงหรืออาจเป็นสีเหลือง
- ตาไม่สู้แสง
- การแยกความแตกต่างของความมืด-สว่าง ก็จะลดลง
- เห็นมีภาพซ้อนในตาข้างเดียว (คือลองเอามือปิดตา 1 ข้าง ก็ยังคงมองเห็นภาพซ้อน)
- มีการเปลี่ยนแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์บ่อยๆ
แล้วเราจะสามารถป้องกันได้อย่างไร
- อย่างแรกเราทราบแล้วว่าแสงแดดคือตัวการสำคัญของโรคต้อกระจกดังนั้นหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยสวมแว่นกันแดดเวลาออกแดด ที่สามารถป้องกันยูวีของดวงอาทิตย์
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ แคโรทีนอยด์ ลูทีน และซีแซนทีน ซึ่งพบมากในผักโขม ผักคะน้าและผักใบเขียวต่างๆซึ่งเชื้อว่าเกี่ยวข้องกับการลดลงของโคคต้อกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
- การบริโภคอาหารที่มีวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี และอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น ปลาแซลมอน เมล็ดทานตะวัน อัลมอลด์ อาจลดความเสี่ยงต้อกระจกได้
- ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ก็ควรหยุดบุหรี่ และงดการดื่มสุรา
มีวิธีการรักษาโรคต้อกระจกได้อย่างไร
การผ่าตัดสลายต้อกระจก ทำได้โดยการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่เลนส์เดิม ซึ่งเลนส์เทียมตัวใหม่นี้สามารถใส่อยู่ในลูกตาได้ตลอดชีวิต
ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกซึ่งเป็นที่นิยมมาก เรียกว่า Phacoemulsification โดยใช้เครื่องมือสลายต้อกระจกที่ทันสมัยมาก เปิดแผลเล็กๆ ไม่เกิน 3 มิลลิเมตร เจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้าออก แล้วใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายเนื้อเลนส์ต้อกระจกที่ขุ่นออก และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งการผ่าตัดใช้ระยะเวลาไม่นาน ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ซึ่งเลนส์ที่เลือกใส่ก็มีหลายประเภท การเลือกใส่เลนส์ตาเทียมชนิดไหนนั้นแต่ละรายไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน และจักษุแพทย์จะเป็นคนตัดสินใจวางแผนการรักษากับผู้ป่วยด้วยค่ะ
ควรมีการไปตรวจต้อกระจกเมื่อไหร่
อายุ 40-65 ปีควรมีการตรวจตาทุกปี 2-4 ปี อายุมากกว่า 65 ปี ควรตรวจตาทุก 1-2 ปี หรือ เมื่อมีอาการทางตาเปลี่ยนแปลง
โรคต้อกระจกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลยใช่ไหมคะ สามารถตรวจและรักษาได้ไม่ยาก ใส่ใจดูแลถนอมดวงตาให้อยู่กับเราไปนานๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ สามารถมาพูดคุยปรึกษากับจักษุแพทย์ได้ค่ะ