โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะรับมือได้อย่างไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะรับมือได้อย่างไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดคืออะไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease) คือ ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากปัญหาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาในช่วงแรกของการพัฒนาของโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ ในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดประมาณ 8 รายต่อทารกเกิดมีชีพ 1,000 ราย ซึ่งอาจแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือมาแสดงอาการเมื่อโตขึ้น ในปัจจุบันมีการรักษาที่ก้าวหน้าและการดูแลที่เหมาะสม ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจำนวนมากสามารถมีชีวิตรอดได้อย่างเป็นปกติ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดจากความบกพร่องของหัวใจแต่กำเนิด ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ที่เรียกว่า พหุปัจจัย (multifactorial factors) ดังนี้

  • พันธุกรรม การที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อบุตรคนถัดไปได้ เนื่องจากพบว่าประมาณร้อยละ 10 ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซมและหน่วยถ่ายทอดพันธุกรรม
  • การติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ หากมารดามีการติดเชื้อไวรัสระหว่าง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน (Rubella) โรคเริม (Herpes) โรค HIV อาจเพิ่มความเสี่ยงของการให้กำเนิดบุตรที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • การใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ การใช้ยาบางประเภทระหว่างการตั้งครรภ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น ยารักษาอาการชัก ยาลดความดัน ยากลุ่มวิตามินA (Retinoic acid) ยาเสพติดกลุ่ม Amphetamines และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • มารดาที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดกับทารกในครรภ์

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีกี่ประเภท

การแบ่งชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว (Acyanotic congenital heart disease) ทารกกลุ่มนี้ไม่พบอาการตัวเขียว ระดับค่าออกซิเจนในเลือดเป็นปกติ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ตัวอย่างเช่น
    • กลุ่มโรคหัวใจพิการที่มีผนังกั้นรั่ว ระหว่างหัวใจด้านขวาและซ้าย ทำให้เลือดแดงไหลลัดจากหัวใจห้องซ้ายเข้าไปในห้องขวา ส่งผลให้มีเลือดไปที่ปอดเพิ่มขึ้น และหัวใจทำงานหนักขึ้น ตัวอย่างโรค เช่น Ventricular septal defect (VSD), Atrial septal defect (ASD)
    • กลุ่มโรคหัวใจพิการที่มีทางเดินเลือดตีบแคบ เช่น การตีบของลิ้นหัวใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินเลือดออกจากร่างกาย และหัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อให้เลือดสามารถไหลผ่านตำแหน่งที่ตีบออกไปได้ ตัวอย่างโรค เช่น Pulmonary stenosis (PS), Aortic stenosis (AS)
  2. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว (Cyanotic congenital heart disease) มักตรวจพบมีอาการตัวเขียวตั้งแต่แรกเกิด หรืออายุไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังคลอด โดยวัดระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าค่าปกติ ตัวอย่างเช่น
    • กลุ่มโรคหัวใจพิการชนิดเขียว ที่มีปริมาณเลือดไปปอดเพิ่มขึ้น มีอาการตัวเขียว และ หัวใจล้มเหลว เช่น Transposition of great artery (TGA)
    • กลุ่มโรคหัวใจพิการชนิดเขียว ที่มีปริมาณเลือดไปปอดลดลง มีอาการตัวเขียว และ มักกลั้นเขียวบ่อยๆ เช่น Tetralogy of Fallot (TOF)

ทารกกลุ่มชนิดเขียวจะมีอาการที่รุนแรง ในบางรายอาจต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการเพื่อการรักษาผ่านการสวนหัวใจตั้งแต่อายุ 1 ปีแรก

อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว

  • ผนังหัวใจรั่วมีขนาดเล็ก จะไม่มีอาการใดๆ การเจริญเติบโตปกติ อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่แรก และมักมาพบแพทย์ด้วยตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจโดยบังเอิญ ถ้าผนังหัวใจรั่วขนาดกลางหรือใหญ่ จะมีอาการชัดเจนตั้งแต่อายุ 1-2 เดือนขึ้นไป ดังนี้ อาการเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ดูดนมแล้วเหนื่อย หายใจแรงมากกว่าเด็กปกติ ใช้เวลาในการดูดนานกว่าปกติ มีเหงื่ออกมากเวลาดูดนม มีการเจริญเติบโตที่ช้า เลี้ยงไม่โต และมีประวัติการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างบ่อยๆและรุนแรง
  • ชนิดที่มีการตีบของลิ้นหัวใจ มักไม่มีอาการใดๆ ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีการตีบของลิ้นหัวใจชนิดที่รุนแรง จะมีอาการเหนื่อยง่าย การหายใจลำบาก หอบเหนื่อย บวม อาจเห็นอาการเขียวได้ โรคหัวใจชนิดนี้ แพทย์มักตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจได้โดยบังเอิญ

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว

ในบางรายที่เขียวไม่มาก ผู้ปกครองอาจไม่ทันได้สังเกตเห็นความผิดปกติ จนกระทั่งอายุ 3 เดือนขึ้นไปเริ่มเขียวขึ้นชัดเจน และมาพบแพทย์ด้วยอาการกลั้นเขียว คือเขียวเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันตามหลัง การออกแรง ตื่นนอนตอนเช้า หรือไม่สบาย เช่น มีไข้ อาเจียนท้องเสียจนร่างกายขาดน้ำ ภาวะซีด ผู้ป่วยจะมีอาการเขียวม่วงมากขึ้นที่ริมฝีปาก ผิวหนัง นิ้วมือ นิ้วเท้า ร่วมกับหายใจหอบลึก บางรายพบรุนแรงมากจนซึม ชัก หรือหมดสติได้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถรักษาได้อย่างไร

แบ่งการรักษาตามประเภทและความรุนแรงของโรค ซึ่งและต้องเปรียบเทียบความเสี่ยงจากตัวโรคและจากการรักษาโรคหัวใจพิการแต่ละชนิด

  • ผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง จะสามารถหายได้ด้วยตัวเอง
  • ในบางรายอาจต้องรักษาด้วยยา
  • บางรายเมื่อพบข้อบ่งชี้อาจต้องการการผ่าตัดหัวใจหรือเลือกใช้วิธีการสวนหัวใจและหลอดเลือด หากในกรณีที่รุนแรงมากก็จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายหัวใจ

การดูแลรักษาทั่วไป

  • การดูแลด้านโภชนาการ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและรสจัด
  • การให้ธาตุเหล็กเสริม เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • แนะนำให้ดูแลรักษาสุขภาพปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ป้องกันฟันผุ และพบทันตแพทย์ ทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อในหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไป
  • แนะนำการรับวัคซีนตามเกณฑ์ และวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine) และวัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV)
  • แนะนำหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม

การรักษาจำเพาะ

การผ่าตัดปิดรูรั่วสามารถพิจารณาทำได้ทุกอายุ แต่อัตราการตายจะสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักน้อย ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีต่างๆ รวมถึง การสวนหัวใจและหลอดเลือดเพื่อใช้อุปกรณ์สำหรับปิดรูรั่วชนิดต่างๆ โดยพบว่าได้ผลการรักษาที่ดี

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถป้องกันได้อย่างไร

มารดาที่ตั้งครรภ์สามารถป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงการให้กำเนิดทารกโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ดังนี้

  • หากสมาชิกในครอบครัวมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์และฝากครรภ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถอัลตราซาวด์พบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ระหว่างตั้งครรภ์
  • หากวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาทุกชนิด หลีกเลี่ยงการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาอาการชัก ยาลดความดัน ยากลุ่มวิตามินA (Retinoic acid) ยาเสพติดกลุ่ม Amphetamines และงดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์
  • หากไม่ได้รับวัคซีนต้านโรคหัดเยอรมัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกัน และพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน (Rubella) โรคเริม (Herpes)
 

พญ.ประทับใจ นิ่มบริบูรณ์พร
กุมารแพทย์โรคหัวใจ

Privacy Settings