เชื่อว่าคุณแม่ทุกท่านที่เพิ่งทราบว่าตนเองตั้งครรภ์น่าจะมีความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งตื่นเต้นดีใจ สับสน และอาจจะกังวลกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น และสิ่งที่เป็นความคาดหวังอย่างสูงสุดก็คือหวังว่าลูกน้อยในครรภ์ของเราจะสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งการฝากครรภ์ที่ได้มาตรฐานจะเป็นตัวช่วยให้การตั้งครรภ์นั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย สามารถตรวจหาความเสี่ยง ป้องกันและรักษาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์นั้นเป็นไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การฝากครรภ์ต้องไปตรวจบ่อยแค่ไหน ?
องค์การอนามัยโลกและกรมอนามัย แนะนำให้มีการฝากครรภ์รวมประมาณ 8 ครั้งตลอดการตั้งครรภ์ โดยในช่วงไตรมาสแรกถึงต้นไตรมาสสาม มักนัดตรวจทุกๆ 4-6 สัปดาห์ ช่วงกลางไตรมาส 3 เป็นต้นไป มักนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ความถี่ในการฝากครรภ์สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมในคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละราย โดยเฉพาะในรายที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่าตั้งครรภ์ อาจต้องไปรับการตรวจครรภ์บ่อยขึ้น
ไปฝากครรภ์แต่ละครั้ง คุณหมอตรวจดูอะไรบ้าง ?
เมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก หรือช่วงไตรมาสแรก (ประมาณ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์)
- ซักประวัติสุขภาพของคุณแม่โดยละเอียด เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ประวัติปัจจุบัน ประวัติการตั้งครรภ์ก่อน การคุมกำเนิด ประวัติโรคประจำตัว ประวัติโรคในครอบครัว ประวัติประจำเดือน และอื่นๆ ที่จำเป็น
- ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินค่าดัชนีมวลกาย วัดสัญญานชีพ ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ อุณหภูมิกาย ตรวจหน้าท้องเพื่อประเมินขนาดมดลูก
- ตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูกในรายที่จำเป็น โดยการตรวจภายในอาจไม่ได้ทำตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปฝากครรภ์ก็เป็นได้ โดยคุณหมอผู้ดูแลจะพิจารณาตามความเหมาะสมของคุณแม่แต่ละท่าน
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย ตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ โดยการตรวจเลือดจะทำการ ตรวจความเข้มข้นของเลือด หมู่เลือด โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น HIV ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ ตรวจหาพาหะธาลัสซีเมีย ตรวจระดับภูมิต้านทานต่อโรคหัดเยอรมัน ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในรายที่มีความเสี่ยงสูง ตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจประเมินความเสี่ยงดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ ซึ่งบางวิธีสามารถตรวจได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก เช่น การตรวจ NIPT รวมถึงการตรวจจากค่าสารชีวเคมีในเลือดของคุณแม่บางประเภท
- ตรวจอัลตร้าซาวน์ ประโยชน์เพื่อประเมินอายุครรภ์ ประเมินวันกำหนดคลอด จำนวนทารก วินิจฉัยภาวะครรภ์ผิดปกติ เช่น ท้องลม หรือท้องนอกมดลูก รวมถึงตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูกหรือรังไข่ นอกจากนี้การตรวจในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ ยังสามารถทำการประเมินความหนาของถุงน้ำหลังคอทารก (Nuchal translucency) เพื่อคัดกรองความเสี่ยงของการมีโครโมโซมผิดปกติ หรือภาวะดาวน์ซินโดรมได้อีกด้วย
- ให้วิตามินเสริมที่จำเป็น โดยในช่วงไตรมาสแรก วิตามินเสริมที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์คือ Folic acid อย่างน้อย 400 ไมโครกรัม/วัน
การฝากครรภ์ในครั้งถัดๆ มา
การตรวจฝากครั้งถัดๆ มา จะมีการตรวจที่คล้ายคลึงกับครั้งแรกแต่จะมีจุดเน้นที่ต่างไปในแต่ละอายุครรภ์ และไม่ได้มีการตรวจเลือดทุกครั้ง โดยการตรวจฝากครรภ์คุณแม่จะได้รับการตรวจดังต่อไปนี้
- ซักประวัติ สอบถามอาการต่างๆ สอบถามอาการเจ็บครรภ์ การดิ้นของลูกน้อย ประวัติการมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ประวัติน้ำเดิน หรืออาการที่บ่งถึงภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หรือจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเป็นอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ชั่งน้ำหนัก วัดสัญญานชีพ ความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ อุณหภูมิกาย
- ตรวจครรภ์ คือการตรวจบริเวณหน้าท้อง เพื่อประเมินขนาดยอดมดลูกเพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มีการฟังเสียงอัตราการเต้นของหัวใจทารก คลำดูท่าทางการวางตัวของทารก
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการตามแต่ละช่วงอายุครรภ์ เช่น การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในทารก แนะนำตรวจก่อน 18-20 สัปดาห์ เพื่อจะได้มีเวลาในการวางแผนตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่ผลผิดปกติต่อไป มีการตรวจคัดกรองเบาหวานที่อายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ และตรวจเลือดดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและการติดเชื้อ HIV และ ซิฟิลิสซ้ำอีกครั้งในช่วงไตรมาสสาม
- จุ่มตรวจหาโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ เพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คัดกรองภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจอัลตร้าซาวน์ ช่วงสำคัญที่ควรได้รับการตรวจคือ ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ และในช่วงอายุครรภ์ ประมาณ 32-34 สัปดาห์ ซึ่งการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่เหมาะสมในการตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกเพื่อค้นหาความพิการแต่กำเนิด และเป็นช่วงที่จะทำการวัดความยาวปากมดลูกเพื่อคัดกรองความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดเพื่อให้การป้องกัน ส่วนการอัลตราซาวน์ใน ช่วงอายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์ จะช่วยเพื่อประเมินการเจริญเติบโต ท่าของทารก ตรวจหาภาวะรกเกาะต่ำ ประเมินปริมาณน้ำคร่ำ ตรวจความผิดปกติที่อาจเกิดในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนการดูในในช่วงคลอดต่อไป สำหรับหลายท่านที่คุณหมออาจมีการทำการตรวจอัลตร้าซาวน์ให้คุณแม่ทุกๆ ครั้งที่ไปฝากครรภ์ ไม่ต้องกังวลว่าการตรวจอัลตร้าซาวน์บ่อยๆ จะก่อให้เกิดอันตรายกับทารกเนื่องจากการตรวจมีความปลอดภัยและอาจทำให้เราค้นพบความผิดปกติได้เร็วขึ้นอีกด้วย
- การให้วัคซีนและวิตามินที่จำเป็น โดยวัคซีนที่จำเป็นสำหรับสตรีตั้งครรภ์ ได้แก่ บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน และไข้หวัดใหญ่ ส่วนวิตามินเสริมที่จำเป็นสำหรับช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปคือ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน กรดโฟลิก และแคลเซียม รวมถึงการเสริม DHA อย่างน้อย 200-300 มก./วัน ก็พบว่ามีผลดีต่อการตั้งครรภ์
จะเห็นได้ว่าการฝากครรภ์แต่ละครั้งมีรายละเอียดที่ต้องทำการตรวจประเมินมากมาย ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านเห็นความสำคัญในการพาลูกน้อยในครรภ์ไปรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ในการสร้างชีวิตน้อยๆ ที่กำลังจะลืมตาดูโลกให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพที่ดีมีคุณภาพซึ่งเราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ในครรภ์ค่ะ
แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์