โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease)
"ปัญหากวนกายลูกน้อย และกวนใจพ่อ ๆ แม่ ๆ ทั้งหลาย"
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ประกอบด้วยหลายสายพันธุ์ย่อย ที่พบบ่อยได้แก่สายพันธุ์คอกแซกกีไวรัส (Coxackie virus) A16, A5, A9, A10, B1, and B3 สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (Human enterovirus 71, HEV71) และ สายพันธุ์ไวรัสเริม (Herpes simplex viruses, HSV) เมื่อติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้แล้วจะทำให้เกิดอาการไข้ และมีผื่นแดง โดยผื่นมีลักษณะเฉพาะคือเป็นผื่นตุ่มน้ำพองใส ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ฐานผื่นเป็นสีแดง ผื่นมักขึ้นบริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือ และ ฝ่าเท้า โดยทั่วไปโรคนี้หายได้เองโดยกลไกภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและกำจัดเชื้อออกไปได้เอง
การแพร่กระจายโรค
โรคมือเท้าปากติดต่อจากคนสู่คน ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ออกมาทาง น้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย นอกจากนี้การไอ จาม รดกันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีการเพิ่มจำนวนเชื้อภายในลำคอและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และมีการเพิ่มปริมาณเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารส่วนล่างลงมา หลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ ได้แก่ กระพุ้งแก้ม ผิวหนังบริเวณมือ และเท้า โดยเชื้อโรคใช้เวลาฟักตัว ประมาณ 72 ชั่วโมง ก่อนที่จะทำให้เกิดอาการ หลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะถูกกำจัดออกมาจากลำไส้พร้อมกับอุจจาระ โดยอาจตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้นาน 6 – 8 สัปดาห์
อาการป่วยในช่วงแรกที่พบบ่อย
ได้แก่ ไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง เจ็บภายในช่องปาก ต่อมาจะเริ่มมีแผลในปาก และผิวหนังตามลำดับ ส่วนมากจะพบบริเวณมือ และเท้า บางครั้งอาจพบบริเวณก้นเด็กได้ลักษณะเฉพาะของแผลในช่องปาก คือบริเวณฐานของแผลเป็นสีเหลืองและล้อมรอบด้วยวงสีแดง ส่วนมากเกิดที่บริเวณริมฝีปาก หรือเยื่อบุช่องปาก แต่บางครั้งแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล หรือเหงือกได้ โรคนี้มักไม่พบผื่นบริเวณรอบริมฝีปาก แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีอาการป่วยได้บ่อยที่สุด
สำหรับผื่นผิวหนังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณหลังมือ และหลังเท้า แต่บางรายอาจพบผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้เช่นกัน ผื่นอาจจะคันหรือไม่ก็ได้ โดยจะเริ่มจากผื่นแดงนูน และเปลี่ยนเป็นผื่นตุ่มน้ำที่มีสีแดงอยู่บริเวณฐานอย่างรวดเร็ว ในเด็กทารกผื่นลักษณะนี้อาจเกิดบริเวณลำตัว ต้นขา และก้น ได้เช่นกัน ผื่นแดงนี้ส่วนมากจะหายได้เองภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์
การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น
- การรักษาหลักจะเป็นการดูแลรักษาตามอาการ เช่น การเช็ดตัวลดไข้ การให้ยาลดไข้ การให้ยาตามอาการ เช่น ยาชาป้ายแผลในปาก
- ประเมินภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยเด็ก การประเมินว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่สามารถประเมินได้จาก อัตราการเต้นชีพจร ความยืดหยุ่นของผิวหนัง ความแห้งของตา ปริมาณน้ำตาขณะที่เด็กร้องไห้ ความแห้งของเยื่อบุช่องปาก รวมถึงประเมินจากปริมาณและความถี่ของปัสสาวะ
อาการแทรกซ้อน
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง พบได้บ่อยที่สุด
- เกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มน้อยลง จากการเจ็บแผลในช่องปาก
- ส่วนน้อยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนของระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิต
หากบุตรหลานมีอาการป่วย ควรทำอย่างไร?
ควรแยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และรักษาตัวที่บ้านอย่างน้อย 5 - 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรใช้ผ้าปิดจมูกปากขณะไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้ดูแลเด็กต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วย
หากมีเด็กป่วยจำนวนมากในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรทำอย่างไร?
มาตรการช่วงที่เกิดโรคระบาดต้องเน้นการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจจำเป็นต้องประกาศเขตติดโรคและปิดสถานที่ที่มีการระบาด เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน โรงเรียนเด็กเล็ก อาจรวมถึงสระว่ายน้ำ และสถานที่แออัดอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กป่วย และควรเน้นการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลและบ้านเรือนที่มีผู้ป่วย
ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็กควรดำเนินการดังนี้
- แจ้งการระบาดไปที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนการระบาด ให้ความรู้ และคำแนะนำ
- เผยแพร่คำแนะนำ เรื่องโรคมือเท้าปาก แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม และควรแยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ฯลฯ
- เฝ้าระวังโดยตรวจเด็กทุกคน หากพบผู้ที่มีอาการโรคมือเท้าปาก ต้องรีบแยกและให้หยุดเรียนประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น
- ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย กรณีที่มีเด็กป่วยหลายห้องหรือหลายชั้นเรียนควรปิดโรงเรียนชั่วคราวอย่างน้อย 5 - 7 วัน
- หากพบการระบาดของโรคมือเท้าปาก หรือมีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อยู่ภายในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก แนะนำให้ปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2 คน หากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5 วัน พร้อมทำความสะอาดอุปกรณ์รับประทานอาหาร ของเล่นเด็ก ห้องน้ำ สระว่ายน้ำและให้มั่นใจว่าน้ำมีระดับคลอรีนที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
- ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณห้องน้ำ สระว่ายน้ำ โรงครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาวผสมในอัตราส่วน 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาด
- ทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้งไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศ แต่แนะนำให้ระบายอากาศโดยการเปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร. 043-04 -2888, 043-042716
ขอบคุณความรู้ดี ๆ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข