มะเร็งเต้านม
ข้อเท็จจริง
- มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ดังนั้นการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็กและก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้มีโอกาสหายขาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับการตรวจพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว
- หากมีการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น มีโอกาสที่จะมีชีวิตเกิน 5 ปีถึงร้อยละ 98 ถ้าตรวจเจอตอนก้อนมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว มีโอกาสที่จะมีชีวิตเกิน 5 ปี ร้อยละ 84 และถ้าตรวจเจอตอนมะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว โอกาสที่จะมีชีวิตเกิน 5 ปี มีเพียงร้อยละ 23 และถ้ายังไม่แพร่กระจายจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตสูง
- เต้านมของคนเราประกอบไปด้วยไขมัน เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนมประมาณ 15 – 20 กลีบ ภายในกลีบประกอบด้วยกลีบย่อยและมีถุงติดอยู่กับท่อน้ำนม ซึ่งจะเปิดยังหัวนม ภายในเต้านมยังมีหลอดเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะไปรวมกันยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
- มะเร็งที่เกิดในท่อน้ำนมเรียกว่า Ductal Carcinoma เมื่อมะเร็งแพร่กระจายมักจะไปตามต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และอาจจะไปยังกระดูก ตับ ปอด และยังไปตามหลอดเลือด
- เต้านมเปลี่ยนแปลงตามอายุและตามรอบประจำเดือน การหมั่นคลำเต้านมตัวเอง จะทำให้รู้ลักษณะปกติของเต้านม สามารถพบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เต้านมตั้งแต่แรก
- ลักษณะเต้านมในแต่ช่วงเวลาของรอบเดือนจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ช่วงก่อนมีรอบเดือนเต้านมจะตึงและคัด เมื่อคลำจะรู้สึกตึง คลำได้ต่อมน้ำนม แต่หลังจากประจำเดือนมาแล้วเต้านมจะนิ่มขึ้น ส่วนเต้านมในวัยทองจะเหลวนิ่ม เนื่องจากต่อมน้ำนมไม่ทำงาน สำหรับผู้ที่ตัดมดลูกโดยที่ไม่ได้ตัดรังไข่ เต้านมจะยังเหมือนเดิม
ปัจจัยเสี่ยง
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย
- ไม่มีบุตร
- คลอดลูกคนแรกช่วงอายุมาก
- เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่เต้านม
- มีประวัติญาติสายตรง (แม่ พี่ น้อง) เป็นมะเร็งเต้านม
- มีการให้รังสีรักษาที่เต้านมหรือทรวงอก
- ทำแมมโมแกรมแล้วพบความผิดปกติ
- กินฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรน
- อ้วน
อาการ
- ปวดหรืออึดอัดบริเวณเต้านม
- คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้
- มีน้ำที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
- เลือดออก
- หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น
- ผื่นรอบหัวนม
ส่วนผู้ที่มะเร็งเริ่มเป็นมากและมีการแพร่กระจายของมะเร็งจะมีอาการ
- ปวดกระดูก
- น้ำหนักลด
- แผลที่ผิวหนัง
- แขนบวม
การตรวจวินิจฉัย
วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ได้แก่
- การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงทั่วไป
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือพยาบาล
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การป้องกัน
แม้สาเหตุของมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การปฏิบัติตัวที่ดีจะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่
- เลือกรับประทานอาหาร เน้นผักหรือผลไม้
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์และอ้วน
- ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
การบำบัดรักษา
- การผ่าตัด (Surgery)
- รังสีรักษาบำบัด (Radiation Therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)
- การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care)
ผู้เขียน
ผู้อำนวยการศูนย์อายุรกรรมมะเร็งวัฒโนสถ
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
แหล่งที่มา: