การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถทำได้แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากบางโรค สามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
-
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง
-
ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียวที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรค
-
รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้โรคบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีนไวรัสตับอีกเสบบี และวัคซีน HPV ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)
การมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัยทำให้เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งกิจกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อยกตัวอย่าง เช่น
-
การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
-
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยหรือถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
-
การใช้สารเสพติดร่วมขณะมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะการใช้สารเสพติดที่มีการใช้เข็มร่วมกัน
-
การที่ตนหรือคู่นอนมีประวัติติดเชื้อมาก่อน แต่ไม่ได้ป้องกันอย่างถูกต้อง
การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)
โดยส่วนใหญ่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เมื่อแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ได้รับเชื้อมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ยากต่อการสังเกตอาการด้วยตัวเอง และที่สำคัญบางโรคยังสามารถส่งต่อไปยังผู้อื่นได้แม้ยังไม่แสดงอาการอย่าง เช่น โรคเริม เป็นต้น ซึ่งการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ปัจจุบันทำได้สะดวกมากขึ้น สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน หรือใช้บริการที่ศูนย์ และคลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการด้านการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน
ที่สำคัญโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิดสามารถแพร่เชื้อไปยังทารกขณะคลอดบุตร และขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคู่รักที่กำลังวางแผนสร้างครอบครัว โดยเฉพาะการวางแผนมีลูกจึงจำเป็นมักตรวจสุขภาพก่อนมีลูกร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายของตน รวมถึงช่วยวางแผนป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเสี่ยงเป็นโรคตั้งแต่แบเบาะ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
ปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคสามารถรักษาให้หายได้ บางโรคสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวและสังคมได้ เมื่อเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ การตระหนักรู้เรื่องเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ควรรู้เป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อให้รู้ทันภาวะเสี่ยงและเข้ารับการวินิจให้ทันท่วงทีก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
Reference