
ผื่นลมพิษ คือ ผื่นที่มีอาการคัน บวม ปื้นนูนแดง มีขอบชัดเจนอาจที่บริเวณส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายหรือกระจายตัวทั่วตัว มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันไม่มีขุย อาการผื่นคันมักขึ้นๆยุบๆ และอาจหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
ผื่นลมพิษ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดได้แก่
- ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) เป็นลมพิษชนิดที่มีอาการต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่สามารถหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ และมีบางส่วนที่จะกลายเป็นลมพิษเรื้อรัง
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) เป็นลมพิษชนิดที่มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ และมีอาการอย่างน้อย2ครั้งต่อสัปดาห์
ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
- อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
- สารก่อภูมิแพ้ในอากาศเช่นไรฝุ่น สุนัข แมว แมลงสาบ เกสรหญ้า
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา
- ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
- อิทธิพลทางกายภาพ เช่น การตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด หรือการออกกำลังกาย
- แพ้สารที่สัมผัส เช่น ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด
- แพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้งหรือต่อต่อย
- ความเครียด ความวิตกกังวล
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
- ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่
แนวทางการตรวจเพื่อหาสาเหตุ
- ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (skin prick test) และ การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ (specific IgE)
การรักษา
- ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ช่วยลดความรุนแรงของอาการคัน บวม แดง และลดอาการภูมิแพ้อื่น ๆ
- วัคซีนภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) ในผู้ที่มีอาการลมพิษชนิดเรื้อรัง และมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดเช่นไรฝุ่น หญ้า สุนัข แมว
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ในผู้ที่อาการไม่ดีขึ้น หรือลมพิษเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามิน
- ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory medications) สำหรับผู้ที่อาการลมพิษชนิดรุนแรง อาจพิจารณาให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids drug)
- ยากลุ่มชีวโมเลกุล (Biologics) โดยแพทย์จะใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาพื้นฐาน
การดูแลเมื่อเป็นลมพิษเรื้อรัง
- เลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นกำเริบ
- กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดกินยาด้วยตัวเอง
- ไม่เกาที่ผิวหนัง แและตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
- หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดความเครียด
- ทานวิตามินเสริมเช่นวิตามินดีสาม
โดย พญ.ศศิกานต์ ซื่อศิริสวัสดิ์
ชำนาญพิเศษ: กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
เฉพาะทาง: กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (Pediatric Allergy and Immunology)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดหมายได้ที่ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
โทร:043-042717