Ultrasound Upper Abdomen (การตรวจอวัยวะภายในช่องท้องส่วนบน)
การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน อวัยวะที่ตรวจหาพยาธิสภาพ ได้แก่ ตับ, ตับอ่อน, ม้าม, ถุงน้ำดี, ท่อน้ำดี, ไต มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น ภาวะไขมันเกาะตับ (fatty liver) มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) ฝีในตับ (liver abscess) มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) ภาวะถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis) นิ่วในไต (renal stone) ท่อไตบวม (hydronephrosis) ก้อนทูมที่ตับอ่อน (pancreatic tumor) ม้ามโต (splenomegaly) เป็นต้น
การเตรียมตัวของผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ
ควรปฏิบัติตัวดังนี้ เพื่อให้ผลการตรวจมีความแม่นยำมากที่สุด
- งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืน (จิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย) ของวันก่อนตรวจจนการตรวจเสร็จ (เพื่อให้ถุงน้ำดีพองตึงและลดอากาศในกระเพาะ/ลำไส้ซึ่งเป็นอุปสรรคในการตรวจด้วยอัลตราซาวน์)
- งดฉีดหรือทานยาโรคเบาหวานและยาที่กัดกระเพาะและนำยาติดตัวมาด้วย
- ถ้ามีฟิล์มเก่ากรุณานำมาด้วยทุกครั้ง
Ultrasound Whole Abdomen (การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องทั้งส่วนบนและส่วนล่าง)
การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องทั้งส่วนบนและส่วนล่าง อวัยวะที่ตรวจหาพยาธิสภาพ ได้แก่ ตับ, ตับอ่อน, ม้าม, ถุงน้ำดี, ท่อน้ำดี, ไต, กระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมาก, มดลูก, เส้นเลือดใหญ่เอออร์ต้า (abdominal aorta) มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคต่างๆ นอกจากโรค/ภาวะที่ตรวจได้จาก ultrasound upper abdomen แล้ว ยังสามารถตรวจภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis) ต่อมลูกหมากโต (enlarged prostate gland) นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (vesical stone) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder cancer) ก้อนทูมของมดลูก (uterine myoma) เส้นเลือดใหญ่เอออร์ตาโป่งพอง (abdominal aortic aneurysm)
การเตรียมตัวของผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ
ควรปฏิบัติตัวดังนี้ เพื่อให้ผลการตรวจมีความแม่นยำมากที่สุด
- งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืน (จิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย กรณีไม่มีการเจาะเลือด) ของวันก่อนตรวจจนการตรวจเสร็จ (เพื่อให้ถุงน้ำดีพองตึงและลดอากาศในกระเพาะ/ลำไส้ซึ่งเป็นอุปสรรคในการตรวจด้วยอัลตราซาวน์)
- งดฉีดหรือทานยาโรคเบาหวานและยาที่กัดกระเพาะและนำยาติดตัวมาด้วย
- ถ้ามีฟิล์มเก่ากรุณานำมาด้วยทุกครั้ง
- กลั้นปัสสาวะก่อนได้รับการตรวจ 1-2 ชั่วโมง (เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะพองตึง หรืออาจดื่มน้ำเปล่าเพิ่มหลังจากเจาะเลือดตรวจแล้ว) จนการตรวจแล้วเสร็จ
Ultrasound Carotid Artery/2 Part Doppler
การตรวจอัลตราซาวน์เพื่อตรวจดูหลอดเลือดแดง Carotid (หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ ขนาด 5-6 มิลลิเมตร อยู่บริเวณคอด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ซ้ายและขวา) เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองและตรวจดูหลอดเลือดว่ามีคราบหินปูนหรือไขมัน (Calcified Plaque) เกาะในหลอดเลือดหรือไม่โดยสามารถวัดความหนาของผนังหลอดเลือด CCA (Intima Media Thickness) วัดความเร็วของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดและทิศทางการไหลของเลือดได้อย่างละเอียด หากพบว่ามีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดคอ มีคราบหินปูนเกาะจนหลอดเลือดคอตีบแคบ ถ้าหลอดเลือดนี้ตีบตัน หรือมีลิ่มเลือดหลุดออกจากหลอดเลือดนี้ หลุดไปยังหลอดเลือดส่วนปลายจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดีหรือไม่ได้เลย ทำให้เกิดสมองขาดเลือดมีอาการอัมพาตตามมาได้
การเตรียมตัวของผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
- ไม่สวมใส่สร้อยคอหรืออุปกรณ์อื่นๆ บริเวณคอ
- ไม่ควรทาแป้งบริเวณคอ
Mammogram with Ultrasound Breast
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่งคล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรมจะเป็นเครื่องเฉพาะที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามากในการตรวจแมมโมแกรมโดยทั่วไป จะฉายรูปเต้านมด้านละ 2 รูป โดยการบีบเนื้อเต้านมเข้าหากัน และถ่ายรูปจากด้านบนและด้านข้าง อย่างละหนึ่งรูป รวมการตรวจแมมโมแกรมในระบบมาตรฐาน 4 รูป ในกรณีที่พบจุดสงสัย อาจมีการถ่ายรูปเพิ่ม หรือขยายรูป เพื่อให้เกิดความชัดเจน
สิ่งที่แมมโมแกรมสามารถตรวจพบและดีกว่าการตรวจวิธีอื่น ก็คือสามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้งมะเร็งเต้านมอาจมีขนาดเล็กมากคลำก็ไม่พบตรวจอัลตราซาวน์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้เฉพาะในการตรวจแมมโมแกรมเท่านั้น ดังนั้น แมมโมแกรม จึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก และเป็นวิธีค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก
การตรวจอัลตราซาวน์เต้านม (Ultrasound Breast ) เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง เข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาร์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ นอกจากนี้ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อในกรณีที่เป็นน้ำก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวน์ จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อยหรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย
การตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ มีข้อดีกันคนละอย่าง บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่บางครั้งการตรวจทั้ง 2 อย่างก็จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น
การเตรียมตัวก่อนการตรวจแมมโมแกรม
- ควรหลีกเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมในช่วงสัปดาห์ก่อนที่มีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่หน้าอกคัดตึงและขยายอาจช่วยให้เจ็บหน้าอกน้อยลงและถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมได้ดีขึ้น
- ผู้ใช้บริการที่มีการเสริมหน้าอกต้องแจ้งผู้ตรวจล่วงหน้าว่ามีการเสริมหน้าอก
- ไม่ควรฉีดน้ำหอม ทาโลชั่น แป้ง หรือโรลออนใดๆ บริเวณระหว่างช่วงแขนลงไปจนถึงหน้าอกก่อนการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการถ่ายภาพได้
- ในกรณีที่มีการตรวจแมมโมแกรมในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลแห่งใหม่ ควรมีการขอประวัติการตรวจแมมโมแกรมเดิมไปให้แห่งใหม่ เพื่อการเปรียบเทียบผลการตรวจที่แม่นยำ
CT Calcium Scoring (coronary)
การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อตรวจหาหินปูน (calcified plaque) ที่บริเวณหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหินปูนที่ตรวจจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) ยิ่งพบมากยิ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นตามด้วย โดยภาพหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ จะแปลผลเป็นตัวเลข หรือเรียกว่า Coronary calcium score หากตรวจไม่พบหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ หรือ Coronary calcium score เป็น 0 จะบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต่ำมาก ในทางตรงกันข้ามหากค่า Coronary calcium score สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าที่มากกว่า 400 จะบ่งชี้ว่าความเสี่ยงที่จะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภายในระยะเวลา 2-5 ปีสูงมาก แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม
ประโยชน์ของการตรวจหินปูนที่เกาะหลอดเลือดหัวใจ
การตรวจพบหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ จะทำให้เราทราบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคตว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงพื้นฐานของแต่ละคน เช่น อายุ โรคร่วมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือประวัติสูบบุหรี่ ซึ่งจะนำพาไปสู่การควบคุมและรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอนาคตได้
ข้อดีของการตรวจหาหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่
- เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล
- ไม่ต้องฉีดยาหรือสารทึบรังสี
- ไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ
- เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งผู้ตรวจได้รับรังสีในปริมาณน้อยมาก
ใครที่ควรเข้ารับการตรวจหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่บ้าง
- ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ อ้วน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ