​​จะดีกว่าไหมหากเราสามารถตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้​ 

หมอไทวัจน์

CT chest low dose for screening early lung cancer

​​มะเร็งปอด คือการเจริญเติบโตผิดปกติของเนื้อเยื่อปอดซึ่งจะทำการลุกลามและทำร้ายเนื้อเยื่อปกติส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติในระยะเริ่มต้น แต่กว่าจะเกิดอาการผิดปกติของร่างกายมักจะเป็นช่วงที่ก้อนโตเป็นระยะลุกลาม ดังนั้นหากเราสามารถตรวจพบมะเร็งปอดขนาดเล็กในระยะเริ่มต้นได้จะช่วยให้ผลการรักษาดีกว่ามาก

​​เดิมทีทางการแพทย์เราใช้การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด (chest x-ray) ในการตรวจคัดกรอง แต่ในภาพเอกซเรย์ปอด 1  ภาพนั้นอวัยวะและโครงสร้างทุกอย่างบริเวณช่องอกทั้งหลอดเลือดและกระดูกชายโครงจะซ้อนทับกัน ทำให้ก้อนขนาดเล็กของปอดในหลายๆตำแหน่งยากที่จะตรวจพบ​

​​หลังจากที่วงการแพทย์ได้คิดค้นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เราพบว่าสามารถตรวจประเมินเนื้อเยื่อปอดได้ละเอียดขึ้นรวมถึงจุดบอดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในการตรวจภาพเอกซเรย์ปอดด้วย แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือปริมาณรังสีที่ใช้ในการสร้างภาพนั้นค่อนข้างสูง​

​​วงการแพทย์ปัจจุบันได้พัฒนาการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดด้วยเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้รายละเอียดของเนื่อเยื่อปอดมากพอที่จะตรวจพบก้อนขนาดเล็กแต่ลดปริมาณรังสีลงได้มากกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ธรรมดา ซึ่งเราเรียกว่า CT chest low radiation dose (การตรวจเอกซเร์คอมพิวเตอร์ช่องปอดด้วยปริมาณรังสีต่ำ) จึงถือเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันทั้งในแง่ของความไวในการตรวจพบและความปลอดภัยในการตรวจเพราะปริมาณรังสีน้อยกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดธรรมดาถึง 1 ใน 4​

​​ปริมาณรังสีนั้นสำคัญอย่างไร ก็คงจะเป็นคำถามที่ทุกๆท่านยังสงสัย จะขออธิบายให้ง่ายที่สุดว่า จริงๆแล้วในชีวิตประจำวันของเราทุกคนจะได้รับปริมาณรังสี x-ray ตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยแล้วเราได้รับปริมาณรังสี x-ray ประมาณ 3 mSv ต่อปี โดยเมื่อเทียบกับการตรวจทางรังสีโดยเฉลี่ยแล้วจะพบว่า

  • การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด (chest x-ray) ได้รับรังสี 0.1 mSv หรือการใช้ชีวิตประมาณ 10 วัน
  • ​​การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดปกติ ( CT chest) ได้รับรังสี 6.1 mSv หรือการใช้ชีวิตประมาณ 2 ปี
  • ​​การตรวจเอกซเร์คอมพิวเตอร์ช่องปอดด้วยปริมาณรังสีต่ำ (CT chest low dose for screening early lung cancer) ได้รับรังสี 1.5 mSv หรือการใช้ชีวิตประมาณ 6 เดือน

​​*** ปริมาณรังสีของการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในผู้รับการตรวจแต่ละคนจะแตกต่างกันตามขนาดร่างกายและประสิทธิภาพของการกลั้นหายใจระหว่างทำการตรวจ​

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ

เนื่องจากเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องฉีดสี ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร รวมถึงไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อทำการคัดกรองการทำงานของไตด้วย ใช้เวลาการอยู่ในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ประมาณ 10-15 นาที​

​​ข้อดี​

  1. ​​ใช้เวลาการตรวจน้อย การเตรียมตัวก่อนตรวจไม่ซับซ้อน​
  2. ​​ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดปกติ​
  3. ความไวในการตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นมากกว่าการตรวจภาพเอกซเรย์ปอด​

​​ข้อด้อย​

  1. ​​เนื่องจากเป็นเทคนิคเฉพาะที่พัฒนาเพื่อตรวจประเมินเนื่อเยื่อปอด จึงให้รายละเอียดของอวัยวะอื่นบริเวณทรวงอกน้อยเกินกว่าที่จะประเมินรอยโรคได้​
  2. ​​เนื่องจากเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น หากตรวจเจอก้อนที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ตัวอย่างชิ้นเนื้อ รวมถึงตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดปกติและฉีดสารทึบรังสีประเมินต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง เพื่อจะสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป​

​​การตรวจนี้เหมาะกับใครบ้าง​

  1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป​
  2. ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ รวมถึงผู้ที่มีประวัติเคยสูบบุหรี่และผู้ที่สูดควันบุหรี่มือสอง (หมายถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับผู็ที่สูบบุหรี่ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะได้สูดควันบุหรี่โดยไม่ได้ตั้งใจ)
  3. ​​ผู้ที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งปอด​
  4. ​​ผู้ที่สัมผัสสารเคมีหรือก๊าซบางชนิดที่มีโอกาสกระตุ้นการเป็นมะเร็งปอด​
  5. ​​ผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูงเป็นเวลานาน​

​​ผลการตรวจที่ได้แบ่งเป็น 3 รูปแบบ​

  1. รอยโรคที่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูง จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ตัวอย่างชิ้นเนื้อ รวมถึงตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดปกติและฉีดสารทึบรังสีประเมินต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง เพื่อจะสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป​
  2. ​​รอยโรคที่ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด (indeterminate) มักจำเป็นต้องตรวจประเมินติดตามในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อเฝ้าระวังว่าจะมีการเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงจางหายไป​
  3. ​​ไม่พบรอยโรคที่น่ากังวลในการตรวจครั้งนั้นๆ แต่ไม่ได้รับรองว่าในอนาคตจะเกิดรอยโรคใหม่ที่น่ากังวลหรือไม่ ​​ซึ่งตามคำแนะนำที่เหมาะสม ท่านต้องติดตามการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (​CT chest low dose for screening early lung cancer​) ต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 1 ปี

โดย นพ.ไทวัจน์ ทัศนาวิวัฒน์
ชำนาญพิเศษ: รังสีวิทยาวินิจฉัย (Diagnostic Radiology)
เฉพาะทาง: ภาพวินิจฉัยชั้นสูง (Advanced Diagnostic Body Imaging)


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดหมายได้ที่แผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
โทร: 043-042830

Privacy Settings