โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) โรคที่ทุกเพศควรรู้ทันป้องกันไว้ก่อน

STDs

เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อใคร ๆ ก็สามารถเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งภัยเงียบปัญหาสุขภาพที่ทุกเพศต่างต้องใส่ใจ เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักไม่แสดงอาการ บางคนที่แข็งแรงและสุขภาพดี อาจได้รับเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญเพื่อเสริมสร้างความรู้เท่าทันต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตประจำได้


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) คือโรคอะไร ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ STDs (Sexually Transmitted Diseases) หรือการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ STIs (Sexually Transmitted infections) เป็นการติดเชื้อจำพวกไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต เชื้อสามารถส่งต่อจากคนสู่คนผ่านเลือด น้ำอสุจิ อวัยวะเพศ และของเหลวในร่างกาย ซึ่งมักส่งต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

แต่นอกเหนือจากเพศสัมพันธ์แล้ว โรค STDs ยังสามารถส่งต่อจากคนสู่คนด้วยการใช้เข็มร่วมกัน การให้เลือด แม้กระทั่งจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ หรือขณะคลอดบุตรได้

fun fact ในอดีตเราอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “กามโรค” (Venereal Diseases: VD) แต่ปัจจุบันไม่ได้นิยมใช้เรียกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางท่านอาจได้รับเชื้อโรค แต่ไม่ได้ป่วย ไม่มีอาการของโรค ปัจจุบันจึงมีการใช้คำว่า STDs และ STIs ในการนิยามโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ร่วมด้วย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) มีโรคอะไรบ้าง ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นการนิยามลักษณะการติดเชื้อที่พบได้จากการมีเพศสัมพันธ์ แต่บางโรคก็สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หลายวิธีไม่ได้จำกัดแค่การมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • หนองใน (Gonorrhea)

       หนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรับเชื้อได้ผ่านทางอวัยวะเพศ ทวารหนักและปาก ผู้ที่ติดเชื้อเพศชายมักมีอาการปวดแสบเมื่อปัสสาวะ ในขณะที่เพศหญิงมักมีอาการเดียวกันแต่ไม่รุนแรงเท่าเพศชาย ผู้ป่วยโรคหนองบางรายแม้จะติดเชื้อแต่ก็ไม่แสดงอาการ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้

  • หนองในเทียม (Chlamydia)

       หนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อคลามัยเดีย (Chlamydia trachomatis) อาการใกล้เคียงกับโรคหนองในสามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิง ผ่านทางช่องคลอดและทวารหนัก ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไวรัสไปยังทารกได้ระหว่างการคลอดบุตร

  • เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)

        โรคเริมเป็นผิวหนังมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HSV (Herpes Simplex Virus) สามารถติดเชื้อได้หลายทางรวมถึงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก โรคนี้มักจะทำให้เกิดตุ่มที่อวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไวรัสสามารถแพร่กระจายได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อไวแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้

  • การติดเชื้อ HIV

        HIV เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สามารถทำให้เกิดภาวะคุ้มกันบกพร่องหรือ AIDS ซึ่งอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา เชื้อ HIV สามารถแพร่ไปยังทารกได้ขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร

  • การติดเชื้อ HPV

       เชื้อ HPV เป็นกลุ่มเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งมีประมาณ 40 ชนิดที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางชนิดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และบางชนิดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

  • โลน (Pubic lice)

        โลนเป็นปรสิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศ บางครั้งก็พบในขนส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขนขา รักแร้ หนวด เครา ขนตา คิ้ว เป็นต้น ตัวโลนอาศัยอยู่บนร่างกายมนุษย์ด้วยการดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร และเนื่องจากโลนไม่สามารถกระโดดหรือบินได้จึงแพร่กระจายด้วยการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านผ้าที่ใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าปูเตียง

  • ซิฟิลิส (Syphilis)

        ซิฟิลิสเป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย สามารถติดเชื้อได้ทาง บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปากและริมฝีปาก ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ ซิฟิลิสจะทำให้เกิดแผลผื่นบนผิวหนัง ซึ่งแผลผื่นที่เกิดจากซิฟิลิสจะทำผู้ป่วยรับและแพร่เชื้อ HIV ได้ง่ายขึ้น ในบางกรณีซิฟิลิสสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

  • พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)

        พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis หรือ Trich) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่แสดงอาการ แต่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 5-28 วัน โรคนี้พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่พบบ่อยในเพศหญิง และมักมีอาการชัดเจนกว่าเพศชาย

  • ไวรัสตับอักเสบบี

        โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคตับที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้

 

Reference

Mayo Clinic

MedlinePlus

Privacy Settings