ในผู้ป่วยโรคหัวใจอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันมักมีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต การสังเกตอาการที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจรู้เท่าทัน แต่เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากขึ้น
อาการหัวใจกำเริบเป็นอย่างไร
อาการหัวใจกำเริบส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันเฉียบพลันทำให้มีอาการ
- เจ็บหน้าอกซีกซ้าย ร้าวไปที่คอ แขนซ้าย หรือกราม
- แน่นหน้าอกนานเกิน 20 นาที
- เหงื่อออก
- มือเท้าเย็น
- เวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม
- หายใจไม่อิ่ม หายใจหอบ
- คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด
- ปวดจุกท้องบริเวณลิ้นปี่
- หมดแรง
อาการหัวใจกำเริบเกิดขึ้นตอนไหน
อาการหัวใจกำเริบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะออกกำลังกาย ทำกิจกรรม นอนหลับพักผ่อน หรือเครียด หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบแต่ยังรู้สึกตัวควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แต่หากมีอาการกำเริบแล้วหมดสติ ถ้าสาเหตุของการหมดสติเกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบต้องถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะภายใน 120 นาทีเพื่อเปิดเส้นเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการหัวใจกำเริบคืออะไร
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันได้แก่
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- ภาวะอ้วนลงพุง
- กินอาหารไขมันสูง
- ขาดการออกกำลังกาย
- เครียดง่าย เครียดบ่อย
- การสูบบุหรี่
ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็อาจมีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันได้เช่นกัน
อาการหัวใจกำเริบจนเสียชีวิตเป็นเพราะอะไร
ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่อาการกำเริบและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นเพราะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดลดลง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจบีบตัวมากขึ้น จนกล้ามเนื้อหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และหัวใจหยุดเต้นในที่สุด
ผู้ป่วยโรคหัวใจหมั่นตรวจเช็กหัวใจ
การพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ รับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจ และจัดการความเครียดให้อยู่หมัด ย่อมช่วยลดโอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจจากหัวใจกำเริบเฉียบพลันได้