วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน ภาวะกลืนลำบากเป็นภาวะที่เกิดจากอวัยวะที่ควบคุมการกลืนผิดปกติหรือทำงานบกพร่อง เป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก ทางเดินหายใจอุดกั้น ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะขาดน้ำ ภาวะพึ่งพิง ภาวะซึมเศร้า คุณภาพชีวิตลดลง
จะทราบได้อย่างไรว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก
สามารถสังเกตลักษณะทางคลินิกของผู้สูงอายุได้ ดังนี้
- น้ำลายไหล มีอาหารหรือน้ำไหลออกจากปากหรือจมูก
- มุมปากตก เบี้ยว หรือปิดปากไม่สนิท
- การเคี้ยวอาหารบกพร่อง
- รู้สึกกลืนไม่หมด หรือกลืนติด
- มีอาหารตกค้างในช่องปาก คอหอย
- มีการเคลื่อนไหวของลิ้นบกพร่อง ลิ้นอ่อนแรง
- ไม่สามารถกลืนได้ หรือกลืนได้ช้ากว่าปกติ
- เสียงเปลี่ยน เสียงเครือ ไอ สำลักก่อน ระหว่าง หรือหลังกลืนน้ำหรืออาหาร
- เสียงแหบ เสียงขึ้นจมูก
- ทานอาหารได้ช้าลง
นอกจากนี้อาจพบได้ว่า มีอาการกลืนของแข็งลำบากกว่าของเหลว หรืออาจมีอาการเรอ กรดไหลย้อน แสบหน้าอก กลืนแล้วเจ็บ หรือเบื่ออาหารได้
ความผิดปกติของการกลืนในผู้สูงอายุ
โดยทั่วไปการกลืนจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะช่องปาก ระยะคอหอย และระยะหลอดอาหาร ซึ่งในผู้สูงอายุนั้น การกลืนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความเสื่อมตามวัย ซึ่งพบได้ในแต่ละระยะ ดังนี้
ระยะช่องปาก
ในผู้สูงอายุจะมีการรับความรู้สึกของช่องปากลดลง และอาจเกิดความรู้สึกเบื่ออาหารได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีอาการปากแห้ง ไม่มีฟันและกล้ามเนื้อในการบดเคี้ยวอาหารลดลง ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการบดเคี้ยวอาหารเพิ่มขึ้น และมีอาหารเหลือค้างในปากซึ่งส่งให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลักได้
ระยะคอหอย
ผู้สูงอายุจะกลืนช้ากว่าคนทั่วไป เนื่องจากความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อคอหอยลดลง การยกตัวของกล่องเสียงเพื่อปิดฝากล่องเสียงช้าลง ทำให้อาหารค้างอยู่ในแอ่งบริเวณนี้มากขึ้น เสี่ยงต่อการสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจ
ระยะหลอดอาหาร
ในวัยสูงอายุระยะเวลาที่หูรูดหลอดอาหารส่วนต้นเปิดจะสั้นลง อาหารจึงค้างบริเวณคอหอยได้มาก รวมถึงแรงในการบีบไล่อาหารของหลอดอาหารลดลงเช่นกัน ซึ่งหากผู้สูงอายุทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันทีอาจส่งผลให้เกิดภาวะเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น การหายใจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน โดยหากการหายใจของผู้สูงอายุไม่สัมพันธ์กับการกลืนก็ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการสำลักอาหารได้เช่นกัน
แนวทางการดูแลผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากเบื้องต้น
- การดูแลสุขภาพช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นส่วนสำคัญในการรักษาภาวะกลืนลำบาก เนื่องจากช่องปากจะมีการสะสมของแบคทีเรีย หากหมั่นทำความสะอาดภายในช่องปากจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลักได้ โดยในผู้ที่ไม่สามารถบ้วนปากหรือแปรงฟันได้ ควรเช็ดทำความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังทานอาหารทุกมื้อ เพื่อนำเศษอาหารที่ค้างในช่องปากออกให้หมด หากบ้วนปากได้ให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อลดอาการปากแห้ง
- การออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน เนื่องจากกำลังของกล้ามเนื้อในการกลืนในผู้สูงอายุจะลดลงไปตามวัย จึงควรบริหารกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน โดยสามารถทำได้ดังนี้
- การบริหารริมฝีปากและเพดานอ่อน เช่น อ้าปาก-ปิดปาก, ฉีกยิ้ม-ปิดปาก, แก้มป่อง-ปิดปาก, เม้มปาก
- การบริหารลิ้น เช่น ลิ้นแตะมุมปากซ้าย-ขวา, ลิ้นแตะริมฝีปากบน-ล่าง, แลบลิ้น-ดึงลิ้นกลับ, เดาะลิ้น
- การบริหารขากรรไกร เช่น อ้าปากค้าง, ขยับขากรรไกรไปด้านข้างซ้าย-ขวา
- การบริหารเส้นเสียง เช่น ออกเสียง “อี” โดยเริ่มไล่เสียงจาดระดับเสียงต่ำไปหาระดับเสียงสูง ทำช้าๆ และค้างระดับเสียงสูงที่สุดไว้นาน 10-20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 รอบ
- การบริหารกล้ามเนื้อคอหอย เช่น Shaker exercise โดยให้นอนราบกับพื้นหรือเตียงแล้วให้ยกศีรษะขึ้นจนเห็นนิ้วเท้าโดยไม่ยกไหล่ทั้ง 2 ข้าง นับค้าง 1-10 แล้วพัก ทำซ้ำต่อเนื่องกัน 30 ครั้ง เป็นต้น (ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง)
- การกระตุ้นรับความรู้สึก การใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำเย็นจัดประมาณ 10 วินาที จากนั้นนำมานวดกระตุ้นบริเวณผนังกั้นต่อมทอลซิลด้านหน้า (anterior faucial arch) และกดน้ำหนักลงปานกลาง เลื่อนขึ้น-ลง 3-5 ครั้ง จากนั้นวางนิ้วชี้และนิ้วกลางที่่ลูกกระเดือก แล้วให้ผู้ป่วยกลืนน้ำลาย จะรู้สึกว่ากล่องเสียงถูกยกตัวขึ้น
- การใช้เทคนิคช่วยกลืน เป็นการจัดท่าให้ศีรษะและลำตัวของผู้ป่วย เพื่อช่วยชดเชยกลไกการกลืนที่บกพร่องไป โดยท่าทางสำหรับการกลืนที่ปลอดภัย คือ นั่งตัวตรง 90 องศา และจัดท่าทางของศีรษะ ดังนี้
- การหันศีรษะไปด้านที่อ่อนแรง สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก เพื่อปิดทางเดินอาหารด้านอ่อนแรง เมื่อกลืนอาหารมันจะลงสู่ด้านที่แข็งแรงกว่า
- การเอียงศีรษะไปด้านที่ดี สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเมื่อกลืนอาหาร มันจะลงสู่คอหอยด้านที่แข็งแรงกว่า
- การก้มหน้าขณะกลืน จะช่วยให้ปิดทางเดินหายใจ และทำให้อาหารผ่านจากระยะช่องปากเข้าช่องคอหอยได้ง่ายปละปลอดภัยมากขึ้น
- ในบางรายอาจกระตุ้นกลืนให้แรงขึ้น (effortful swallow) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการกลืน
คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย
- นั่งตัวตรงขณะรับประทานอาหารและหลังอาหารควรนั่งต่ออย่างน้อย 30 นาที
- รับประทานอาหารช้าๆ อย่างตั้งใจและให้เวลาสำหรับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ
- อย่ารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำในขณะที่เหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักประมาณ 30 นาที
- ไม่รับประทานอาหารหรือน้ำคำใหญ่ไป
- ลดสิ่งรบกวนขณะรับประทานอาหาร เช่น การพูดคุย การดูโทรทัศน์
- อย่ารับประทานอาหารแห้งจนเกินไป อาจใช้ซอสหรือน้ำซุปข้น ทำให้อาหารเกาะกันเพื่อกลืนได้ง่ายขึ้น
- ในผู้ที่เป็นอัมภาพครึ่งซีกควรวางอาหารด้านลิ้นที่แข็งแรง
- หากมีอาการไอบ่อย ควรให้สารข้นหนืด (thicken up) ละลายกับน้ำ เพื่อลดการไอที่นำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อจากการสำลักอาหาร
- หากจำเป็นต้องใช้เทคนิคช่วยกลืน ควรใช้สม่ำเสมอ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา
อย่างไรก็ตามภาวะกลืนลำบากอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และควรได้รับการประเมินและคำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้หากท่านสนใจเข้ารับการประเมินและการฟื้นฟูภาวะกลืนลำบากสามารถปรึกษากับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกิจกรรมบำบัดเพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ได้ที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น ให้บริการทุกวัน เวลา 9:00-17:00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 043-042-811
เรียบเรียงโดย กบ.จุฑามาศ ดาทอง นักกิจกรรมบำบัด
เอกสารอ้างอิง
- ชนิตพล บุญยะวัตร. ภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุ. สืบค้นวันที่ 9 สิงหาคม 2565. จาก https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=2281
- ปิยภัทร เดชพระธรรม. ปัญหาการกลืนในผู้สูงอายุ (Dysphagia in elderly). เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร 2556; 23(3): 73-80
- สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางทางเวช ปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก Clinical Practice Guideline:dysphagia. นนทบุรี: บริษัท สหมิตรพริ้นติ้ง แอนด์พับลิสชิ่ง จำกัด, 2562