เด็กวัย 3-6 ปี เป็นช่วงสำคัญที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโต เด็กวัยนี้มีโอกาสเรียนรู้จากการ ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับกลิ่น การรับรสชาติ และการสัมผัส รวมทั้งการเคลื่อนไหว การเล่น การลงมือกระทำ ได้สำรวจ ทดลอง ค้นพบด้วยตนเอง ได้มีโอกาสคิดแก้ปัญหา เลือกตัดสินใจ พูดคุย คิดริเริ่มสร้างสรรค์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เด็กวัยนี้จึงควรได้รับการดูแลด้วยความรัก ความเข้าใจและความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองคือบุคคลสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็กให้มีพฤติกรรมและพัฒนาการที่ดีได้ด้วยการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยโดยเฉพาะช่วงเวลาที่อยู่ร่วมกันที่บ้าน
พัฒนาการของเด็กวัย 3-6 ปี
ช่วงอายุ 3-4 ปี
เป็นวัยที่ช่างสงสัย ช่างถาม ช่างสำรวจ และช่างเลียนแบบ ชอบเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว จากประสบการณ์ตรงและทำอะไรซ้ำๆ ในสิ่งที่ชอบตื่นเต้นกับสิ่งแปลกใหม่และยังเอาแต่ใจตนเองบ้าง ตัวอย่างธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ได้แก่
- สามารถดูแลตนเองผ่านกิจวัตรประจำวัน แต่อาจต้องมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือบ้าง และช่วย ทำงานบ้านง่ายๆ ได้เช่น เก็บของเล่นเข้าที่ รด น้ำต้นไม้ เป็นต้น
- การทรงตัวดีขึ้น ทั้งการเดิน เดินหน้า ถอยหลัง การวิ่งการปีนป่าย และกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ที่ไม่สูงมาก
- ชอบการเล่นที่ต้องใช้มือและนิ้ว กิจกรรมที่ชื่นชอบคือ วาดภาพระบายสี ปั้น พิมพ์
- เริ่มเข้าใจคำบอกตำแหน่ง เช่น ข้างหน้า ข้างหลัง บน ล่าง และสามารถพูดเป็นประโยค
- เริ่มเข้ากลุ่มและเล่นร่วมกับผู้อื่น เริ่มรู้จัก การแบ่งปันและอดทนรอคอยได้นานขึ้น
ช่วงอายุ 4-5 ปี
เป็นวัยที่มีความเชื่อมั่นในตนเองและอยากทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อยากรู้อยากเห็น ชอบกระโดดโลดเต้น ชอบตะโกน หัวเราะ ร่าเริง แจ่มใส ตัวอย่างธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ได้แก่
- สามารถดูแลตนเองผ่านกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น เช่น กินข้าว ล้างหน้า ล้างมือ เป็นต้น
- ใช้มือได้ดีขึ้น สามารถจับดินสอ พู่กันได้ ใช้กรรไกรตัดกระดาษ วาดรูปคนส่วนหัว แขน ขา และลำตัว รวมถึง สัตว์ สิ่งของ และสามารถ ทรงตัว วิ่ง ปีนป่ายได้ดีขึ้น
- สนใจคำศัพท์ใหม่ๆ เริ่มโต้แย้งและมีการใช้เหตุผล เริ่มเข้าใจการอ่านหนังสือจากซ้ายไปขวา จัดหมวดหมู่หรือจับคู่สิ่งต่างๆ ได้ ถามและตอบ เกี่ยวกับใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำไม ฯลฯ
- รู้จักคิดมีเหตุมีผลมากขึ้น แต่บางครั้งยังแยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องที่แต่งขึ้น เริ่ม แสดงความมั่นใจและตัดสินใจด้วยตัวเอง รวมทั้งเล่นเป็นกลุ่ม รู้จักการรอคอยและแบ่งปัน
ช่วงอายุ 5-6 ปี
เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้บทบาทของผู้ใหญ่โดยการจินตนาการและการเล่นบทบาทสมมติ เตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและในโรงเรียน มีสมาธิจดจ่อในการทำกิจกรรมนานขึ้น และเริ่มเข้าใจผู้อื่น ตัวอย่างธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ได้แก่
- สามารถดูแลตนเองผ่านกิจวัตรประจำวันได้ดียิ่งขึ้น
- ทรงตัว วิ่ง ปีนป่าย และโหนตัวไปมา ได้คล่องแคล่ว รู้จักโยน เตะ และรับของ
- เริ่มเขียน ลอกแบบรูปร่างตัวหนังสือและ ตัวเลขได้ และแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น เริ่มเข้าใจเรื่องเวลาวันในแต่ละสัปดาห์
- จดจำและเล่าเรื่องราวประกอบท่าทางได้ และ มีเหตุผลมากขึ้น รวมทั้งเริ่มคิดค้นเกมที่มีกฎกติกาง่ายๆ และชักชวนเพื่อนเล่นบทบาทสมมติ ซึ่งเพื่อนเริ่มมีบทบาทสำคัญ เข้าใจการแบ่งปัน และความยุติธรรม
การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงวัย 3-6 ปี
- จัดกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงอย่างหลากหลาย ที่สำคัญสามารถปรับและยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน
- จัดพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรม มีความปลอดภัยต่อเด็กและช่วยจัดหาอุปกรณ์เช่น ดินสอ กระดาษ สีเทียน สีน้ำ ฯลฯ ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เก็บที่นอน ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ล้างมือ กินข้าว ฯลฯ อาจกำหนดช่วงเวลาให้เด็กทำและทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในช่วงแรกอาจ คอยช่วยเหลือหรือทำกิจวัตรประจำวันพร้อมกันกับเด็ก เมื่อเด็กทำได้แล้วจึงให้เด็กลงมือทำเอง นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรมที่เหมาะสมเท่าที่เด็กจะทำได้ในการช่วยทำงานบ้าน งานครัว เช่น กวาดบ้าน เก็บของเข้าที่ ปอกผลไม้ ล้างผักง่ายๆ ฯลฯ งานสวน เช่น ปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
- ทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก แต่หากไม่มีเวลา ควรเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้จากสิ่งของและผู้คนที่อยู่รอบตัว และให้เด็กได้เล่นอิสระ อาจเป็นของเล่นหรือของใช้ที่ไม่เป็นอันตราย หาได้ง่ายในบ้าน และจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ของจริงตามธรรมชาติ (ใบไม้ ผลไม้ก้อนหิน ฯลฯ) จากสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน (ช้อน จาน แก้วนํ้า ฯลฯ) รวมทั้งให้เด็กได้เล่นออกกำลังกลางแจ้งหรือในร่ม เล่นนํ้า เล่นทราย โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้พ่อแม่ ผู้ปกครองคือของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก อาจเล่นกับเด็กโดยใช้อวัยวะบางส่วนของร่างกาย (มือ แขน ขา หู ตา จมูก ผม ฯลฯ) นำมาประกอบการเล่นได้มากมาย เช่น อุ้ม โอบกอด ขี่หลัง ขี่คอ เล่นนิ้วมือ เป็นต้น
- ชวนเด็กพูดคุยสม่ำเสมอ กระตุ้นด้วยคำถาม เล่าเรื่องราว หรือ ชักชวนเด็กอ่านจากสิ่งของรอบตัว เช่น ป้ายร้านค้า กล่องนม กล่องสบู่ ฯลฯ รวมทั้งการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยเฉพาะหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็ก หรือเล่าเรื่องราวจากแผ่นภาพ
- ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมศิลปะ เช่น การระบายสีและวาดรูป อย่างอิสระ พับกระดาษ ปั้นแป้ง พิมพ์ภาพ ฯลฯ และกิจกรรมด้าน ดนตรีเช่น การฟังเพลง การร้องเพลง การพูดคำกลอน คำคล้องจอง การแสดงท่าทางประกอบตามจินตนาการ ฯลฯ
ทั้งนี้หากท่านมีข้อสงสัยหรือความกังวลในด้านพัฒนาการของบุตรหลานของท่าน สามารถปรึกษานักกิจกรรมบำบัดเพื่อทำการตรวจประเมินพัฒนาการตามช่วงวัยด้วยแบบประเมินมาตรฐาน ได้ที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอนแก่น ให้บริการทุกวัน เวลา 9:00-17:00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 043-042-811
เอกสารอ้างอิง
- กระทรวงสาธารณสุข. (2561). คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย Developmental Surveillance and Promotion Manual (DSPM). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
- จริยา จุฑาภิสุทธิ์ และ สุรีลักษณ์ สุจริตพงศ์. (2556) พัฒนาการปกติ. ใน : ทิพวรรณ หรรษาคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, สุรีลักษณ์ สุจริตพงศ์, วีระศักดิ์ ชลไชยะ บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3 การดูแล สุขภาพเด็กดี. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์. หน้า 39-52
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). คู่มือสำหรับพ่อ แม่เพื่อเผย แพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน เด็กวัยอนุบาล 3-6 ปี. กรุงเทพมหานคร: ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.