อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและไม่คาดหวังว่าจะเกิด เกิดขึ้นกับตัวเราสามารถทำให้เกิด การบาดเจ็บต่ออวัยวะและร่างกายเราได้ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงเสียชีวิตได้ อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเราได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น สวมหมวกนิรภัยขณะขับรถ คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถตามกฎจราจร เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเราได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
จากข้อมูลภาพรวมของแผนกฉุกเฉินทั่วประเทศ ผู้ป่วยที่มารับบริการที่แผนกฉุกเฉินจากอุบัติเหตุคิดเป็นประมาณ 15-25% ของผู้ป่วยฉุกเฉินในแต่ละปี(1) และในแต่ละปีมีผู้ป่วยปริมาณมากที่มารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน ตัวเลขล่าสุดในปี 2559 ประมาณ 35 ล้านครั้ง/ปี(2) จะเห็นว่าในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉินกว่า 5.25-8.75 ล้านครั้งในแต่ละปี และในจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นผู้ป่วยวิกฤติที่เกิดจากอุบัติเหตุ 35% ของผู้ป่วยวิกฤติทั้งหมด จะพบว่าผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่แล้ว เป็นการบาดเจ็บที่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และในกลุ่มผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการจราจรและท้องถนน(3) และผู้บาดเจ็บกลุ่มนี้ที่เป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ห้องฉุกเฉิน มักมีบาดแผลร่วมด้วยเสมอ และเมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น การรักษาดูแลบาดแผลจึงเป็นเรื่องสำคัญของการดูแลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ดังนั้นหากเราสามารถดูแลบาดแผลต่างๆ ได้ดีอย่างมีมาตรฐาน รู้จักการนำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ มาผสมผสานเป็นหลักในการรักษา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการหายของบาดแผลได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับหลักการดูแลบาดแผลในปัจจุบัน เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยกลับมาสมบูรณ์ได้อย่างดีที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยที่แผนกฉุกเฉินส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างมาก
หลักในการดูแลบาดแผล
เดิมทีเราเชื่อว่าหลักในการช่วยแผลหายคือการทำให้แผลแห้ง (Dry wound healing) ปัจจุบันจากหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำให้เปลี่ยนหลักการการช่วยทำให้แผลหายดียิ่งขึ้นคือ การสมดุลของความชื้นของบาดแผล (Balanced moist wound healing) นั่นคือ แผลควรจะชื้นหน่อยๆ ไม่มากไป ไม่น้อยไป จะทำให้แผลหายเร็วขึ้นนั่นเอง ปัจจุบันมีวัสดุอุปกรณ์ปิดบาดแผล หลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นมากมาย โดยอาศัยหลักการนี้(4) ขั้นตอนในการทำแผล เดิมทีเราจะรักษาความปราศจากเชื้อในการทำความสะอาดแผล (Complete sterile care in all wound care) ปัจจุบันเราทำความสะอาดแผลบนขั้นตอนการดูแลบาดแผลให้สะอาด ส่งเสริมการหายของบาดแผล (Hygiene care concept) โดยไม่ได้ยึดโยงว่าต้องทำให้ปราศจากเชื้อ แต่ยึดบนหลักการที่ทำให้แผลสะอาด ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคให้ได้มากที่สุด(5) และเมื่อรักษาบาดแผลไปแล้ว แผลหายช้ากว่าที่ควรจะเป็นเดิมทีเราจะใช้ระยะเวลามาจับที่มากกว่า 6 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน หมายถึงแผลเรื้อรัง (Chronic wound) ปัจจุบันนี้เราจะใช้คำว่า บาดแผลหายยาก (Hard to heal wound) โดยมีระยะเวลาพิจารณาแผลอยู่ที่ 3 วัน หากให้การดูแลบาดแผลบนมาตรฐานแล้ว 3 นับตั้งแต่เกิดบาดแผลแต่บาดแผลกลับมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ลดลงเราจะเรียกว่า Hard to heal wound(6) ซึ่งอธิบายได้จากว่าบาดแผลอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ และแบคทีเรียเหล่านั้นเริ่มสร้าง Biofilm หรือเกราะชีวภาพของตัวมันเอง เพื่อให้มันอยู่รอดในแผลได้ สร้างอาณาจักรเชื้อแบคทีเรียนั้นๆ ที่แผล ต่อสู้กับเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือภูมิต้านทานของเราบริเวณที่เป็นแผลนั้น บาดแผลของเราจึงเปรียบเสมือนสนามรบ ที่ต่อสู้กันระหว่างเชื้อโรคและภูมิต้านทานของเรา โดยมีเศษซากของการสู้รบเป็นน้ำหนอง หรือเศษสิ่งสกปรกบนบาดแผลเมื่อระยะเวลาผ่านไปนั่นเอง
ดังนั้นการดูแลรักษาบาดแผลในปัจจุบันจึงอาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาหลากหลายในการรักษาบาดแผล ทำให้บาดแผลมีโอกาสหายมากขึ้น เร็วขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญจากแผลหายยากลงไปได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เรามีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างจำกัด การดูแลบาดแผล ทำความสะอาดบาดแผล เลือกยา และวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะกับบาดแผล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจอย่างมาก เพื่อช่วยส่งเสริมให้การหายของบาดแผลออกมาดีที่สุด
แผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น มีวัสดุอุปกรณ์ ยา ที่หลากหลายและทันสมัย รวมไปถึงบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลบาดแผล ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.ประวีณ จันจำปา
แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
Reference
- (1) Thailand Medical Service Profile 2011-2014
- (2) คู่มือแนวทางการจัดบริการห้องฉุกเฉิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2561
- (3) ระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน
- (4) Jones J. Winter’s concept of moist wound healing : A review of the evidence and impact on clinical practice. Journal of Wound care 2005
- (5) Murphy C. Atkin L.Swanson T. Et al(2020) Defying hard to heal wounds with an early antibiofilm intervention strategy: Wound hygiene . International consensus document. J.Wound care 29(Suppl 3b); S1-S28
- (6) Journal of wound care consensus document Vol.29, No.3, March 2020