จะไปทำงานต่างประเทศ ต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

จะไปทำงานต่างประเทศ ต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

การไปทำงานต่างประเทศต้องเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพก่อนที่จะเตรียมความพร้อมในเรื่องอื่นๆ เพราะหากท่านมีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือเป็นโรคต้องห้ามในการไปทำงานในประเทศนั้นหรือมีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการทํางานหนักหรือเป็นโรคที่อาจกําเริบรุนแรงขึ้นเมื่อไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอาจจะทำให้มีปัญหาต่อการคัดเลือกไปทำงานหรือการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศได้ ผู้ที่จะไปทํางานต่างประเทศต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพทั้งก่อนตัดสินใจไปทํางาน ภายหลังสมัคร หรือได้รับคัดเลือกไปทํางานแล้ว และขณะทํางานในต่างประเทศโดยในแต่ละขั้นจะต้องเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตัวดังนี้

ก่อนตัดสินใจสมัครไปทำงานต่างประเทศควรที่จะต้อง

  1. ไปตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลในชุมชนซึ่งเสียค่าตรวจไม่มากนักเพื่อจะได้รู้ว่าท่านเป็นโรคต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ เพราะแต่ละประเทศจะกำหนดโรคต้องห้ามไว้แตกต่างกัน โรคต้องห้ามส่วนใหญ่ ได้แก่ ซิฟิลิส วัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบบี และโรคเอดส์ หากท่านมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ควรสอบถามแพทย์ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการไปทํางานต่างประเทศหรือไม่
  2. ไปตรวจหาโรคเอดส์ที่คลีนิคนิรนามของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขตและโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งผู้ที่ไปตรวจไม่ต้องแจ้งชื่อและที่อยู่
  3. ต้องรู้ด้วยว่าประเทศที่ท่านสนใจไปทํางานมีโรคต้องห้ามอื่นๆ อีกหรือไม่เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลในชุมชนเพิ่มเติม เช่นเกาหลีมีโรคต้องห้ามคือโรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรควัณโรค โรคเท้าช้าง โรคคุดทะราด โรคจิตโรคประสาท เป็นต้น ทั้งนี้รายการโรคต้องห้ามแต่ละประเทศสามารถดูได้จากเว็บไซต์สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (www.doe.go.th/overseas)

ข้อควรระวัง: ถ้าไม่อยากถูกหลอก ห้ามจ่ายเงินให้กับสายหรือนายหน้าและอย่าจ่ายเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายโดยไม่มีหลักฐานหรือพยานรู้เห็นเป็นอันขาด

ตรวจก่อนไปทำงานต่างประเทศ ตรวจที่ไหนได้บ้าง?

ภายหลังสมัครงานหรือได้รับคัดเลือกแล้วควรปฏิบัติดังนี้

  1. ไปตรวจสุขภาพด้วยตนเองที่สถานพยาบาลตามที่กรมการจัดหางานประกาศรายชื่อไว้ทั้งนี้ สถานพยาบาลเอกชนเฉพาะที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเท่านั้นที่สามารถตรวจสุขภาพคนหางานก่อนเดินทางไปทํางานต่างประเทศได้ ส่วนสถานพยาบาลภาครัฐเช่นโรงพยาบาลประจําจังหวัดต่างๆสามารถตรวจได้ แต่ทั้งนี้ในบางประเทศจะกำหนดให้สถานพยาบาลเพียงบางแห่งเท่านั้นที่สามารถตรวจได้ อย่างเช่น กรณีการไปทำงานไต้หวัน ท่านจะต้องเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลที่ทางการไต้หวันกำหนดเท่านั้น ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และ โรงพยาบาลลำปาง โดยท่านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลว่าท่านตรวจโรคเพื่อเดินทางไปทํางานประเทศไหน เนื่องจากรายการตรวจสุขภาพและใบรับรองผลการตรวจสุขภาพของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
  2. นำใบรับรองผลการตรวจสุขภาพไปยื่นต่อกรมการจัดหางาน (กรณีเดินทางไปทำงานโดยกรมการจัดหางานจัดส่ง) หรือ บริษัทจัดหางานผู้จัดส่ง (กรณีบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง) โดยท่านต้องเก็บใบรับรองแพทย์ตัวจริงที่สถานพยาบาลออกให้อีก 1 ชุดไว้กับตัวเองและนําติดตัวไปด้วยเพื่อใช้แสดงต่อหน่วยงานต่างประเทศกรณีมีการตรวจสอบ นอกจากนั้นท่านจะต้องเก็บสำเนาใบรับรองแพทย์ไว้ที่ครอบครัวด้วย เพื่อใช้เป็นหลักฐานกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เป็นหลักฐานประกอบการร้องทุกข์ กรณีที่ท่านเดินทางไปทํางานแล้วเกิดปัญหาถูกส่งตัวกลับเนื่องจากไม่ผ่านการตรวจโรคซ้ำที่ประเทศนั้น ทั้งนี้ใบรับรองแพทย์มีกำหนดระยะเวลาการหมดอายุ ดังนั้น ท่านจะต้องสอบถามสถานพยาบาลถึงกําหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย เนื่องจากหากใบรับรองแพทย์หมดอายุก่อนที่ท่านจะเดินทางไปทํางานต่างประเทศ ท่านอาจจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพใหม่
    อัตราค่าตรวจสุขภาพจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและประเทศที่ไปทํางาน ท่านสามารถขอดูรายชื่อสถานพยาบาลตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปทํางานต่างประเทศได้ที่สํานักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดหรือที่ www.doe.go.th/overseas หรือติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศกรมการจัดหางาน
  3. ต้องระวังรักษาสุขภาพก่อนเดินทางโดยมีหลักปฏิบัติดังนี้
    • ปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย เช่น กินอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย สวมรองเท้าเสมอและไม่เที่ยวสำส่อนทางเพศเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและป้องกันการรับเชื้อใหม่เข้าสู่ร่างกาย
    • ก่อนเดินทางไม่ควรเลี้ยงฉลองจนเกินสมควร กินอาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะอาจทําให้ท่านได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น พยาธิและไม่ควรดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาแล้วไปเที่ยวใช้บริการทางเพศโดยไม่ป้องกันซึ่งอาจทําให้ได้รับเชื้อกามโรคหรือเอดส์ได้
    • ก่อนเดินทางประมาณหนึ่งสัปดาห์ควรไปตรวจเลือดอุจจาระและปัสสาวะซ้ำที่โรงพยาบาลเดิมเพื่อความแน่ใจว่าท่านไม่ได้รับเชื้อใหม่เข้าสู่ร่างกายหรือเชื้อโรคที่มีอยู่เดิมแสดงอาการ

อย่า! เลี้ยงฉลองความยินดีด้วยการดื่มสุราหรือเที่ยวเตร่จนลืมตัวเพราะเมื่อมีการตรวจโรคซ้ำที่ต่างประเทศ หากตรวจพบโรคต้องห้ามของประเทศนั้นๆ จะถูกส่งกลับประเทศทันที

สนใจสอบถามข้อมูลการตรวจก่อนไปทำงานต่างประเทศ ปรึกษาได้ที่แผนกส่งเสริมสุขภาพ
หรือสอบถาม 043-042888

พญ.กาญจนา นามนะมะ
แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและอาชีวเวชศาสตร์
ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
Privacy Settings