การตรวจเอคโคหัวใจในเด็ก (Pediatric Echocardiography)

ตรวจหัวใจเด็ก

เอคโคหัวใจคืออะไร

“เอคโคหัวใจ” คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ผ่านผนังทรวงอกไปยังหัวใจและหลอดเลือด นิยมตรวจในท่านอนหงาย แพทย์ผู้ตรวจจะใช้หัวตรวจ (probe) วางบนผนังทรวงอกและปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงจากหัวตรวจ ด้วยความเร็วเสียงประมาณ 1,530 เมตร/วินาที คลื่นผ่านผนังทรวงตกกระทบไปยังส่วนต่างๆ ของหัวใจและหลอดเลือดแล้วรับคลื่นเสียงสะท้อนกลับมาหัวตรวจจะแปลงสัญญาณเป็นภาพโครงสร้างหัวใจและหลอดเลือดแสดงอยู่บนหน้าจอเครื่องตรวจ คลื่นเสียงความถี่นี้สูงเกินกว่าที่หูมนุษย์จะรับรู้ได้จึงเรียกว่า คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) การตรวจเอคโคหัวใจไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยและมีความปลอดภัยสูงมาก สามารถช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจได้ทุกชนิด ทั้งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease) และโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired heart disease) ได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ของการตรวจเอคโคหัวใจ

  1. แสดงภาพภายในหัวใจที่ผิดปกติ (structural heart defect) การเอคโคสามารถมองเห็นหัวใจทั้ง 4 ห้อง สามารถวัดขนาดและความหนาของผนังหัวใจ มองเห็นผนังกั้นหัวใจ ลักษณะการเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจ สามารถเห็นเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจ
  2. ประเมินการทำงานของหัวใจทั้งช่วงการบีบตัวและการคลายตัวของหัวใจ (systolic and diastolic ventricular function) การตรวจเอคโคหัวใจสามารถประเมินการทำงานของหัวใจได้ ช่วยวินิจฉัยโรคและเป็นเครื่องมือใช้ติดตามประสิทธิภาพหลังการรักษา
  3. ตรวจการไหลเวียนโลหิตในหัวใจ (hemodynamic echocardiography) ช่วยประเมินการไหลเวียนเลือดของร่างกายได้

อาการผิดปกติที่บ่งชี้ว่าอันตราย พ่อแม่อย่ารอช้า ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเอคโคหัวใจ

  1. อาการเจ็บหน้าอก
    • มีอาการหน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย
    • อาการเจ็บหน้าอกร่วมกับใจสั่น
    • อาการเจ็บหน้าอกเกิดเมื่อออกกำลังกาย
    • อาการเจ็บหน้าอกและเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
    • อาการเจ็บหน้าอกเป็นมากจนทำให้เด็กต้องตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน
    • มีประวัติครอบครัวเสียชีวิตกะทันหันไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
    • มีโรคประจำตัว เช่น โรค Marfan syndrome โรคหัวใจแต่กำเนิด หรือเคยเป็นโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) มาก่อน
  2. อาการใจสั่น
    • ไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ เช่น ใจสั่นเวลานอนหรือนั่งเฉยๆ
    • อาการเกิดขึ้นทันที
    • มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย
  3. อาการหน้ามืดเป็นลม ที่อธิบายสาเหตุไม่ได้
  4. อาการตัวเขียว
    • เด็กมีริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเล็บ สีม่วงคล้ำ
    • บางรายผู้ปกครองไม่ทันได้สังเกต จนกระทั่งอายุ 3-6 เดือนขึ้นไป อาจเกิดอาการ“กลั้นเขียว”ตามหลังการเล่น การออกแรง หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือเวลาไม่สบาย เช่น ไข้ ร่างกายขาดน้ำ ซีด ผู้ป่วยจะมีอาการเขียวม่วงมากขึ้นร่วมกับหายใจหอบลึก บางรายมีอาการรุนแรงมาก ซึม ชัก หรือหมดสติได้
  5. อาการเหนื่อยง่าย
    • เด็กทารก สังเกตจากดูดนมแล้วเหนื่อยมากกว่าเด็กปกติ มีเหงื่อออกมาก ใช้เวลาในการดูดนานมากกว่า 30 นาทีต่อครั้ง มีการเจริญเติบโตที่ช้า เลี้ยงไม่โต ป่วยบ่อย
    • เด็กเล็กและเด็กโต เหนื่อยง่าย และไม่สามารถทำกิจกรรมได้เท่าๆ กับเด็กวัยเดียวกัน ติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างบ่อยๆ มากกว่า 3-4 ครั้งต่อปี
  6. อาการเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur)
    • ในเด็กที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ อาจตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจได้ สาเหตุเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ไข้ โลหิตจาง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือเด็กที่อยูในวัยการเจริญเติบโต เด็กกลุ่มนี้มักไม่มีอาการผิดปกติและมีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์
    • ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจ มีอาการน้อยจนถึงมาก เช่น เขียว เหนื่อยง่าย ป่วยบ่อย เลี้ยงไม่โต สาเหตุโรคหัวใจที่พบบ่อย เช่น โรคผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว เส้นเลือดหัวใจเกิน ลิ้นหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
  7. อาการบวม มักบวมที่บริเวณหลังเท้า สันหน้าแข้ง หรือข้อเท้า หลังตื่นนอนจะบวมบริเวณด้านหลัง เมื่อกดเป็นรอยบุ๋มแล้วจะค่อยๆ คืนตัว
  8. ตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต โรคหัวใจทำให้หัวใจและปอดทำงานมากกว่าปกติแต่ได้ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้มีการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้

เครื่องมือในการวินิจฉัยโรคหัวใจลูกน้อย

หากลูกน้อยมีอาการหรือความผิดปกติที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ควรมาปรึกษากุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ เพื่อรับคำแนะนำและหากพบว่ามีอาการที่น่าสงสัยโรคหัวใจ จะได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือเพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้แม่นยำ สะดวก รวดเร็ว ดังนี้

  1. การเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูขนาดของของหัวใจ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด ถ้าหัวใจขยายโตขึ้น อาจหมายถึงอาการผิดปกติที่ซ่อนอยู่
  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากหัวใจ ทำให้ทราบ หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่รวมถึงดูว่าห้องหัวใจโตได้
  3. การตรวจเอคโคหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) หลักการคล้ายกับการทำ ultrasound โดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงแสดงภาพของการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ การตรวจวิธีนี้ไม่เจ็บ ทำได้รวดเร็วและแม่นยำ โดยไม่มีข้อเสียหรือความเสี่ยงจากรังสีเอกซเรย์

การตรวจเอคโคหัวใจในเด็ก มีกี่แบบ

  1. การตรวจหัวใจผ่านผนังทรวงอก (Transthoracic Echocardiography-TTE) เป็นวิธีที่ใช้ตรวจปกติ ตรวจในท่านอนหงาย แพทย์จะวางหัวตรวจตรงบริเวณผนังทรวงอกของผู้ป่วย วิธีนี้เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก ไม่เจ็บ ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องการและความยากง่ายในการตรวจ
  2. การตรวจหัวใจผ่านหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiography- TEE) ผู้ป่วยต้องกลืนหัวตรวจขนาดเล็ก (mini TEE) ลักษณะคล้ายส่องกล้องทางหลอดอาหาร จะสามารถตรวจหัวใจผ่านทางหลอดอาหารได้
    • ข้อดี เห็นภาพหัวใจจากทางด้านหลังได้ชัด เนื่องจากไม่มีโครงสร้างกระดูกบัง ใช้ตรวจหัวใจไปพร้อมกับขณะผ่าตัดหัวใจได้
    • ข้อเสีย ต้องให้ผู้ป่วยกลืนหัวตรวจลงไป อาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มักต้องให้ยาระงับความรู้สึกและยาชา
    • ข้อห้าม หลีกเลี่ยงในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดอาหารตีบหรือเคยได้รับการผ่าตัดหลอดอาหาร เพื่อป้องกันหัวตรวจทะลุหลอดอาหาร
  3. การตรวจเอคโคหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงแบบ 3 มิติ (Three Dimension Echocardiography) สามารถแสดงภาพโครงสร้างใกล้เคียงในแบบ 3 มิติเสมือนจริง จึงช่วยให้ศัลยแพทย์หัวใจสามารถเตรียมและวางแผนการผ่าตัดได้แม่นยำยิ่งขึ้น ในปัจจุบันสามารถตรวจแบบ 3 มิติผ่านหลอดอาหารได้
เครื่องมือในการวินิจฉัยโรคหัวใจลูกน้อย
 

การเตรียมตัวลูกน้อยเพื่อรับการตรวจเอคโค

  • เมื่อพบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติ สามารถมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเอคโคได้เลย โดยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร
  • ห้องตรวจจะเป็นห้องที่เงียบสงบ คุณพ่อคุณแม่สามารถอยู่ในห้องตรวจพร้อมกันกับลูกน้อย
  • กรณีเด็กเล็กอาจใช้เสียงดนตรี ดูภาพยนต์การ์ตูนที่เด็กชอบ เล่นตุ๊กตาหรือของเล่นอื่นๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความกังวลและเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กออกจากการตรวจของแพทย์

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการตรวจเอคโคหัวใจในเด็ก

  • หลักการคล้ายกับการทำ ultrasound โดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงแสดงภาพของการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ
  • เอคโคหัวใจมีความปลอดภัยสูงมาก สามารถช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจได้ทุกชนิดทั้งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง
  • การตรวจวิธีนี้ไม่เจ็บ ทำได้รวดเร็วและแม่นยำ ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องการและความยากง่ายในการตรวจ
  • ไม่มีข้อเสียหรือความเสี่ยงจากรังสีเอกซเรย์
 

พญ.ประทับใจ นิ่มบริบูรณ์พร
กุมารแพทย์โรคหัวใจ

Privacy Settings