เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ค่า PM 2.5 มีค่าสูงขึ้นมากในประเทศไทย ในหลายๆ พื้นที่ ส่งผลต่อระบบร่างกายเราในหลายๆ ระบบ หลายคนประสบปัญหา เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ และมักเป็นมากขึ้น ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสูง จึงเกิดคำถาม มากมาย ดังนี้
PM 2.5 ให้เกิด ภาวะเลือดกำเดาไหล (Epistaxis) ได้ หรือไม่ ?
PM 2.5 ให้เกิด ภาวะเลือดกำเดาไหล (Epistaxis) ได้ และสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในวัยเด็ก และวัยรุ่น รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัว เช่นภูมิแพ้จมูก ไซนัสอักเสบเรื้อรัง อยู่เดิม
PM 2.5 ให้เกิด ภาวะเลือดกำเดาไหล (Epistaxis) ได้ อย่างไร ?
เนื่องจาก PM 2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงจมูก เกิดการกระตุ้นกระบวนการอักเสบ เกิดการบวมที่มากขึ้น และ ไวต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมมากขึ้น เกิดโพรงจมูกอักเสบ หรือ ภูมิแพ้กำเริบในผู้ป่วยภูมิแพ้ และเมื่อเกิดอาการบวมที่มากขึ้น มีน้ำมูก คัน จาม อาจกระตุ้นให้มีการ ขยี้จมูก แคะแกะเกา บริเวณผนังจมูกด้านหน้า หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุโพรงจมูกด้านหน้า หรือเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กในโพรงจมูกด้านหน้าเกิดบาดเจ็บ แตก และทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ ซึ่งในทางการแพทย์ เรียกเลือดกำเดาไหลชนิดนี้ว่า Anterior epistaxis หรือเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะเลือดกำเดาไหลในเด็ก และคนที่มีโพรงจมูกอักเสบทั้งจากการติดเชื้อ หรือจากภูมิแพ้จมูก
แต่หากเป็นเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหลัง หรือ Posterior epistaxis ซึ่งจะมีปริมาณมากและมีความรุนแรงมากว่า สาเหตุมักจะสัมพันธ์กับ ภาวะความดันโลหิตสูง และจะพบในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีโรคความดันโลหิตสูง จะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับ PM 2.5 โดยตรง
นอกเหนือจากนั้น ภาวะเลือดกำเดาไหลยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมากมาย ที่ไม่ได้เป็นสาเหตุจาก PM 2.5 โดยตรง เช่น ผนังกั้นจมูกคด เกิดอุบัติเหตุที่บริเวณโพรงจมูกหรือใบหน้า มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก มีก้อนเนื้องอกในโพรงจมูกหรือหลังโพรงจมูก มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากโรคต่างๆ ทั้งไข้เลือดออก รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด โรคตับเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจประเมินและหาสาเหตุโดยแพทย์
หากมีภาวะเลือดกำเดาไหล เมื่อไหร่ ควรมาพบแพทย์ ?
- เลือดกำเดาไหลซ้ำ เป็นบ่อยๆ โดยเฉพาะ หากเลือดกำเดาไหลออกข้างเดิม เป็นครั้งที่สองในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากสาเหตุมักจะพบว่ามีจุดเลือดออก มีแผลที่ชัดเจนและสามารถให้การรักษาด้วยยาเพื่อลดโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลซ้ำได้
- เลือดกำเดาไหลปริมาณมาก เกินกว่าครึ่งแก้ว หรือไม่หยุดหลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการบีบจมูกนาน 15 นาที หรือมี หน้ามืดวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
- เลือดกำเดาไหลลงคอมากกว่าออกมาทางหน้าจมูก เนื่องจากอาจเกิดจาก เลือดกำเดาไหลจากโพรงจมูกส่วนหลัง (Posterior epistaxis) ซึ่งมีโอกาสเกิด เลือดกำเดาไหลรุนแรง และไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดได้ด้วยตนเอง เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- มีเลือดกำเดาไหล ร่วมกับมีภาวะเลือดออกที่ระบบอื่นๆ เช่น จุดน้ำเลือดที่ผิวหนัง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งอาจเกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
- มีภาวะเลือดกำเดาไหล ร่วมกับความดันโลหิตสูง ควรได้รับการตรวจประเมินสาเหตุและตำแหน่งของเลือดกำเดาไหล รวมถึงประเมินการรักษาเรื่องความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุร่วมด้วย
- มีอาการทางจมูกอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คัดแน่นจมูกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือ มีหูอื้อ จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกและหลังจมูกเพื่อตรวจก้อนเนื้อในจมูกเพิ่มเติม
หรือ มีอาการของภูมิแพ้จมูก เช่น คันจมูก จาม น้ำมูกใส ที่พบได้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูก เป็นต้น
PM 2.5 กับภาวะเลือดกำเดาไหลที่รักษาได้
เนื่องจาก ภาวะเลือดกำเดาไหล ที่มีสาเหตุปัจจัยจากPM 2.5 มักจะตรวจพบพยาธิสภาพความผิดปกติของเยื่อบุในโพรงจมูก บริเวณ ผนังกั้นจมูกด้านหน้า (Little’s area) และสามารถให้การรักษาได้ ดังนี้
- รักษาด้วยยา ในกรณีที่ เลือดกำเดาไหลหยุดแล้ว สามารถรักษาแบบประคับประคองโดยใช้ยา เช่น ยาป้ายขี้ผึ้งที่ตำแหน่งจุดเลือดออก ยาพ่นจมูกเพื่อยุบบวมเฉพาะที่ น้ำเกลือพ่นจมูกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในจมูก
- รักษาด้วยการจี้ ในกรณีที่ ตรวจพบจุดเลือดออก และยังมีเลือดออกอยู่ตลอด หรือมีเลือดออกซ้ำๆ ที่เดิมบ่อยๆ รักษาด้วยยาไม่เป็นผล แพทย์จะแนะนำให้ทำการจี้จุดเลือดออกเพื่อหยุดเลือด และลดการเกิดเลือดไหลซ้ำ ซึ่งสามารถทำได้ที่ ห้องตรวจผู้ป่วยนอก หรือห้องผ่าตัดเล็กทันที โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- การรักษาอื่นๆ เช่น การ Pack จมูกห้ามเลือด การจี้ผูกเส้นเลือดในห้องผ่าตัด เป็นการรักษาเพื่อหยุดเลือดกำเดาไหลที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือมีความรุนแรงที่มากขึ้นตามแต่ละกรณีไป
เลือดกำเดาไหล สามารถป้องกันได้หรือไม่ ?
สามารถป้องกันได้ โดยวิธีป้องกันขึ้นกับสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น ในกรณีสาเหตุที่ถูกกระตุ้นจาก PM2.5 ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส สูดดมฝุ่นมลภาวะ ควันบุหรี่ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แนะนำล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อขจัดฝุ่นมลภาวะ หลังสัมผัส และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เยื่อบุในโพรงจมูก หากมีโรคภูมิแพ้จมูกร่วมด้วยควรรักษาภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา ขยี้จมูกแรงๆ หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- นั่งโน้มตัวมาข้างหน้า ไม่แหงนหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงไปในคอ และหลอดลม เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสให้เลือดเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจและเกิดอาการสำลักได้
- ใช้มือบีบปีกจมูกทั้ง 2 ข้างประมาณ 10 นาที จนกว่าเลือดจะหยุดไหลและหายใจทางปากแทน
- ประคบเย็น ที่บริเวณหน้าผากและรอบๆ จมูก
- หากเลือดหยุดไหลแล้ว งดแคะแกะเกา ขยี้จมูก หรือจาม สั่งน้ำมูกแรงๆ
- หากเลือดยังไม่หยุดไหล หรือเลือดไหลปริมาณมาก ไหลลงคอร่วมด้วย มีอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ ให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยทันที
เลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่พบเห็นกันได้บ่อยทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และพบมากขึ้นในช่วงมีมีมลภาวะทางอากาศที่แย่ลง หรือ PM 2.5 ที่สูงขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุเลือดกำเดาไหลเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจเป็นสัญญาณของโรคอันตราย เช่น เนื้องอกในจมูก มะเร็งในโพรงจมูก วัณโรคหลังโพรงจมูกได้ ไม่ใช่เกิดจาก PM 2.5 เพียงอย่างเดียว ดังนั้นหากพบว่ามีอาการเลือดกำเดาไหลผิดปกติ คือ ไหลบ่อย ไหลปริมาณมาก ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และรับการรักษาตามมาตรฐานต่อไป