ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำงานในอาคารปิด ใช้ระบบหมุนเวียนอากาศร่วมกัน รวมถึงการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีผู้คนแออัด ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่ายและรวดเร็ว การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนย่อมช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ และยิ่งเป็นคนที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาควรเข้ารับการฉีดป้องกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
รู้จักไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza Virus) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและระบบอื่นๆ แต่มีความแตกต่างจากไวรัสทางเดินหายใจทั่วๆ ไป เนื่องจากอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน และผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายที่ไม่แข็งแรง
อาการของโรค
หากเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการของระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้น ได้แก่
- ไข้
- ปวดศีรษะและบริเวณเบ้าตา
- ปวดเมื่อยตัว
- อ่อนเพลีย
- ไอแห้งๆ
- เจ็บคอ
- มีน้ำมูก
นอกจากนี้สิ่งที่ควรรู้คือ ในเด็กอาการอาจแตกต่างกับในผู้ใหญ่ เช่น อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยในประเทศไทยมีโอกาสในการเกิดโรคได้ตลอดทั้งปี แต่จะชุกชุมมากในฤดูฝน
การติดต่อของโรค
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านเสมหะของผู้ป่วย โดยการไอหรือจามแล้วเข้าสู่ปากหรือจมูกของผู้ใกล้ชิด และมีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากการสัมผัสกับเสมหะของผู้ป่วยบนสิ่งของเครื่องใช้ด้วยมือแล้วนำมาสัมผัสกับปากหรือจมูก
ภาวะแทรกซ้อน
หากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่หลังเกิดอาการไข้หวัดใหญ่ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- ภาวะขาดน้ำ
- โรคประจำตัวที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น ภาวะหัวใจวายในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ป้องกันไข้หวัดใหญ่
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและเสมหะของผู้ป่วย
- ล้างมือบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ตา ปากของตัวเองหากสัมผัสกับผู้ป่วย
- หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ควรอยู่ห่างจากผู้อื่น ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
ใครควรรับวัคซีน
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยอายุระหว่าง 19 – 64 ปีที่มีโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง
- ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจากโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ช่วงเวลาฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดก่อนช่วงที่จะมีการระบาดของโรค สำหรับประเทศไทยควรฉีดระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2 สัปดาห์ ที่สำคัญการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนสายพันธุ์ได้บ่อย จึงแนะนำให้ฉีดทุกปี เพราะวัคซีนที่ผลิตในแต่ละปีจะเป็นวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปีนั้นๆ
ประสิทธิภาพวัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคประมาณ 70 – 90% แต่ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง การตอบสนองต่อวัคซีนอาจลดลง อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน โอกาสที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้
ในแต่ละปีมีผู้คนจำนวนมากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนเกิดโรคด้วยการได้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปีคือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลโรคได้