โรคอัลไซเมอร์กับผู้สูงอายุ

บำรุงสมอง เพิ่มความจำในผู้สูงอายุ

โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามภาวะสมองเสื่อมมีหลากหลายชนิด เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง, ภาวะสมองเสื่อมที่มีพยาธิสภาพอยู่ในสมองส่วนหน้า, ภาวะสมองเสื่อมจากเลวี่บอดี้ที่เกิดจากโปรตีนสะสม และภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน สิ่งที่สำคัญคือการวินิจฉัยที่ถูกต้องและทันท่วงที เพื่อนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการดำเนินของโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยในระยะยาว

ตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอย

เมื่ออาการผิดปกติทางด้านความจำเกิดขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาทเฉพาะทางด้านความจำและพฤติกรรม การตรวจวินิจฉัยประกอบไปด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การทดสอบด้านความจำ ในบางกรณีอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดและการตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI Scan) เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติด้านความจำและการนึกคิด โดยสาเหตุอื่นๆ ที่มักพบ ได้แก่ ภาวะขาดวิตามินบี 12, ภาวะไทรอยด์ต่ำ, การติดเชื้อ HIV, โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคทางสมองและระบบประสาทอื่นๆ เช่น ภาวะคั่งน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติ โดยหลังจากที่แพทย์ผู้ชำนาญการได้ทำการตรวจทางสมองและระบบประสาทอย่างละเอียดแล้ว หากพบว่าภาวะถดถอยของความจำเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย การวินิจฉัยสามารถสรุปได้ว่า ผู้ป่วยมีโรคทางการถดถอยของสมองได้ทั้งแบบไม่รุนแรงและรุนแรงขึ้นอยู่กับอาการและความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจพิเศษ

เพื่อให้สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอยได้อย่างถูกต้อง การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ อาจมีความจำเป็น เช่น การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) การเจาะตรวจน้ำในไขสันหลัง (Lumbar Puncture) และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า PET Scan

  • การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) ได้แก่
    • การตรวจยีน APOE ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี
    • การตรวจยีน PSEN1, PSEN2 และ APP ในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์
    • การตรวจยีน C9orf72 ในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่มีพยาธิสภาพอยู่ในสมองส่วนหน้า
  • การเจาะตรวจน้ำในไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เป็นหัตถการเพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางและเพื่อเป็นการตรวจหาโปรตีนที่ผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น Beta – Amyloid, Phosphorylated – Tau Protein และ Total – Tau Protein
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET Scan โดยใช้สารเภสัชรังสี PiB (PiB PET Scan) และ Amyloid (Amyloid PET Scan) เพื่อใช้ในการตรวจหาการสะสมของโปรตีน Beta – Amyloid Plaque ในสมอง ซึ่งเป็นโปรตีนผิดปกติที่มักพบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ PET Scan โดยใช้สารเภสัชรังสี FDG (FDG PET Scan) ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคสที่สามารถใช้ประเมินกระบวนการเมตาบอลิซึมของสมอง โดยในภาวะสมองเสื่อมชนิดต่างๆ จะมีรูปแบบการลดลงของกระบวนการเมตาบอลิซึมของสมองที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค สาร FDG จึงเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarker) ที่สำคัญในการประเมินภาวะสมองเสื่อม

การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วย PET Scan สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยที่อาจจะยังไม่มีอาการแสดง นำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และลดโอกาสการดำเนินไปของโรคความจำเสื่อม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจทางรังสี เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Scan) จะสามารถตรวจพบความผิดปกติ เมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงทางด้านความคิดและความจำเกิดขึ้นแล้ว

การรักษาภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอย

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเพื่อหยุดการดำเนินของภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอยได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามมียาหลายชนิดที่สามารถช่วยชะลออาการไม่ให้ภาวะสมองเสื่อมแย่ลง ทำให้เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่ภาวะสมองเสื่อมควรได้รับการตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยการรักษาจะช่วยควบคุมอาการและป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมไปมากกว่าเดิม

หากภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุบางอย่างที่ชัดเจน การรักษาจะเป็นการรักษาที่สาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากเนื้องอกหรือโพรงน้ำในสมองขยายตัว อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดสมอง หรือถ้าเกิดจากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ก็สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาทดแทน เป็นต้น ในส่วนของการรักษาความจำเสื่อม ยาบางกลุ่ม เช่น Cholinesterase Inhibitors สามารถชะลออาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบางชนิดได้ ซึ่งจะได้ผลในการชะลอการดำเนินโรคได้ดี ในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรกๆ และเพื่อเป็นการชะลอการเสื่อมของสมอง อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาทจะแนะนำให้ผู้ป่วยมีการฝึกฝนสมอง รวมทั้งฝึกสมาธิและทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความคิดและความจำควบคู่ไปกับการใช้ยา โดยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การวาดรูป การคิดคำนวณเกี่ยวกับตัวเลข การเล่มเกมต่างๆ เช่น ซูโดกุ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยล้มและควบคุมโรคประจำตัวที่ผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งจะมีผลทำให้การดำเนินของภาวะเสื่อมแย่ลง

รักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation)

การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก หรือที่มักเรียกกันว่า TMS เป็นการรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทรูปแบบใหม่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือใช้ยา โดยหลักการของการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก คือ การใช้เครื่องสร้างสนามแม่เหล็กกำลังสูงและนำสนามแม่เหล็กนั้นไปกระตุ้นสมองในบริเวณที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งแพทย์จะทำการประเมินหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการกระตุ้นสมองในผู้ป่วยแต่ละราย และตรวจหากำลังคลื่นไฟฟ้าที่เหมาะสมที่จะให้การรักษา (Motor Threshold) จากนั้นจะมีการวางตำแหน่งเครื่องกระตุ้นในบริเวณดังกล่าวและทำการกระตุ้นเป็นจังหวะ เครื่องกระตุ้นนี้จะทำให้เกิดเสียงคลิกและจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้เครื่องกระตุ้นรู้สึกเหมือนมีการแตะเบาๆ โดยที่ไม่มีความเจ็บปวด หลังรับการรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปกติ การรักษาแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 20 – 60 นาที ส่วนใหญ่แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำต่อเนื่องหลายครั้ง โดยที่จำนวนครั้งที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยเป็นหลัก

ป้องกันภาวะสมองเสื่อม

สำหรับในคนที่ยังไม่มีอาการสามารถลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมและความจำเสื่อมได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเกิดการบาดเจ็บต่อศีรษะ ฝึกฝนการใช้ความคิดและความจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิต ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งลดหรือเลิกสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังการใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อความจำ เช่น ยานอนหลับและยาแก้แพ้ ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ในกรณีที่พบว่ามีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับการรักษาเนื่องจากเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์

 

ข้อมูล : พญ.ศรินพร มานิตย์ศิริกุล ทิพย์อุดม

 

 

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings