แค่เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบ ?

แค่เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบ

“คุณหมอ… ลูกสาวพี่มีน้ำมูกมาหลายวันแล้วเป็นไซนัสรึเปล่าคะ?”

“แล้วพี่ต้องพาลูกไปหาหมอหรือไม่คะ?”

บ่อยครั้งที่หมอได้รับ คำถามนี้จากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย เพราะแน่นอนว่าอาการทางจมูกเป็นอีกหนึ่งในความผิดปกติของเด็กที่พบบ่อยและพ่อแม่ทุกคนคงเคยได้พบเจอและในผู้ใหญ่ก็เช่นกัน

ทุกครั้งที่คนไข้มีอาการผิดปกติทางจมูก ไม่ว่าจะเป็น น้ำมูกไหล หายใจเสียงดังครืดคราด คัดจมูก คันจมูก จามหรือไอมากผิดปกติ คงทำให้เกิดคำถามมากมาย เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นเพียงอาการของ “หวัด” ซึ่งหายเองได้ อาจเป็น “ภูมิแพ้จมูก” เดิมที่เคยเป็นมาตลอดหรือแม้แต่เป็น “ไซนัสอักเสบ” ที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) คืออะไร?

ไซนัส (Paranasal Sinuses) คือโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณส่วนใบหน้า มี 4 คู่ แต่ละคู่อยู่คนละข้างของจมูก มีรูเปิดขนาดเล็กเชื่อมต่อกับโพรงจมูก

สาเหตุการเกิดไซนัสอักเสบมีหลายประการ โดยสาเหตุหลักที่พบได้มากที่สุดเกิน 90% คือ การติดเชื้อไวรัส นอกจากนี้พบสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้เช่นเดียวกันหรือหากมีภาวะใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของรูเปิดไซนัส ไม่ว่าจะเป็นผนังกั้นจมูกคด สิ่งแปลกปลอมในจมูกมีก้อนเนื้องอกหรือริดสีดวงในจมูกก็ล้วนแต่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้

เราจะทราบได้อย่างไรว่า เป็นเพียงไข้หวัด หรือ ไซนัสอักเสบ?

การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ อาศัยการซักประวัติตรวจร่างกายและอาจต้องใช้ภาพถ่ายทางรังสี ผลเลือดหรือการส่องกล้องในโพรงจมูกช่วยในการวินิจฉัย โดยมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้

ไซนัสอักเสบหลังการติดเชื้อไวรัส (Post-Viral Acute Rhinosiusitis)
  1. มีอาการหวัดน้ำมูกคัดจมูกที่แย่ลงหลังจากเริ่มมีอาการ5วัน
  2. มีอาการหวัดน้ำมูกคัดจมูกติดต่อกันนานเกิน 10 วัน
ไซนัสอักเสบจากเชือแบคทีเรีย (Acute Bacterial Rhinosinusitis) มีอาการ/อาการแสดงดังต่อไปนี้ 3 ข้อเป็นต้นไป
  1. ไข้ > 38°C (Fever)
  2. อาการแย่ลงอีกครั้งหลังจากที่เริ่มดีขึ้น (Double sickening)
  3. น้ำมูกเปลี่ยนสี (Discolored mucus)
  4. ปวดใบหน้าและโพรงไซนัสมาก (Severe local pain)
  5. ค่าการอักเสบในเลือดขึ้นสูง (Raised ESR/CRP)

ดังนั้นหากพบว่ามีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล แต่อาการดังกล่าวแย่ลงกว่าเดิมหลัง 5 วัน หรือไม่หายหลัง 10 วันไปแล้ว มีโอกาสที่การอักเสบนั้นจะเข้าสู่โพรงไซนัส และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูกและไซนัสร่วมด้วย รวมถึง หากมีอาการ ไข้สูง น้ำมูกมีสีเขียว หรือปวดบริเวณใบหน้า ก็มีโอกาสที่จะเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้มากขึ้น

นอกเหนือจากนี้ในเด็กที่มีน้ำมูกข้างเดียว จะต้องระวังการติดเชื้อในโพรงจมูกหรือไซนัสข้างเดียว ที่อาจเกิดจากการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมในจมูก จำเป็นไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยโสต ศอ นาสิกแพทย์ เพื่อตรวจหาสิ่งแปลกปลอมร่วมด้วย เช่นเดียวกันในผู้ใหญ่ที่มีน้ำมูกข้างเดียวอาจเป็นการติดเชื้อในโพรงไซนัส จากเชื้อรา หรือจากฟันซึ่งไม่สามารถหายเองได้ และต้องรักษาด้วยยาเฉพาะ หรือการผ่าตัด จึงควรพบโสต ศอ นาสิกแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัยอย่างละเอียดส่องกล้องทางโพรงจมูก รวมถึงตรวจภาพถ่ายทางรังสีด้วย

ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวทั้งหมดนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ยาพ่นจมูก หรือผ่าตัด ตามความเหมาะสมต่อไป

ภูมิแพ้จมูก เกี่ยวข้องกับไซนัสอักเสบ อย่างไร?

“ภูมิแพ้จมูก” อาจมีอาการใกล้เคียงกับ “ไซนัสอักเสบ” และ “ภูมิแพ้จมูก” ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด “ไซนัสอักเสบ” เนื่องจากคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้จมูก เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น จะส่งผลให้เยื่อบุในโพรงจมูกบวม และอุดกั้นรูเปิดโพรงไซนัสได้ ส่วนมากอาการของภูมิแพ้จมูก จะเด่นที่อาการน้ำมูกใส คันจมูก คันตา จาม และสัมพันธ์กับการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทางอาการต่างๆ เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา ในขณะที่อาการของไซนัสอักเสบ จะเด่นที่อาการคัดจมูก น้ำมูกข้น ได้กลิ่นลดลง ปวดโพรงไซนัสปวดใบหน้า

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการของภูมิแพ้จมูก ที่รักษาด้วยยาภูมิแพ้เดิมแล้ว ไม่ดีขึ้น ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ใน 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประเมินสาเหตุของโรคอีกครั้ง เพราะสามารถติดเชื้อเกิดเป็นไซนัสอักเสบร่วมกับภูมิแพ้จมูกได้เช่นกัน

หากเป็นไซนัสอักเสบ ปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจะเป็นอันตรายหรือไม่?

มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้โดยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นนี้ ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของการเกิดไซนัสอักเสบ หากเกิดการอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียรุนแรง มีโอกาสที่การติดเชื้อจะลามสู่อวัยวะใกล้เคียง นั่นคือ ตา และสมองได้ แต่หากสาเหตุของการเกิดไซนัสอักเสบ เกิดจากเนื้องอก ฟันผุ สิ่งแปลกปลอมในจมูก หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในเด็ก และไม่ได้รับการวินิจฉัยเพื่อค้นหาสาเหตุดังกล่าว และรักษาสาเหตุร่วมกับการรักษาไซนัสอักเสบ ก็มีโอกาสที่ตัวโรคที่เป็นอยู่จะมีอาการแย่ลงไปเรื่อยๆ ได้เช่นกัน

ดังนั้น หากมีอาการทางตาร่วมกับอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลด้วย เช่น ตาบวม ตามัว ปวดตา หรือปวดศีรษะรุนแรง ต้องรีบพบโสต ศอ นาสิกแพทย์โดยทันที

ไม่อยากให้ลูกเป็นไซนัสอักเสบ จะป้องกันได้หรือไม่?

ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ มีหลายประการ และอาจเกิดจากหลายๆ สาเหตุร่วมกัน สาเหตุที่คุณพ่อคุณแม่พอจะร่วมลดการกระตุ้นการเกิดไซนัสอักเสบได้ คือ การลดสัมผัสหรือรับกลิ่นควันบุหรี่ของเด็ก การสำลักนมหรืออาหารบ่อยครั้งซึ่งอาจเกิดร่วมกับภาวะกรดไหลย้อน รวมถึงการอยู่รวมกันในสถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้บ่อยขึ้นนั่นเอง

สาเหตุอื่นๆ ที่ควรควบคุมให้ดี คือภูมิแพ้ จมูก ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง หรือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ ส่งผลให้โพรงจมูกอักเสบบวมระยะยาวและเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรังตามมาได้

ถึงแม้ว่ามากกว่า 90% อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลจะเป็นเพียงโรคหวัดหรือไข้หวัด และหายได้เอง แต่หากพบอาการที่น่าสงสัยดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น รวมถึงระยะเวลาการดำเนินของโรคที่นานผิดปกติ หรือมีอาการกลับเป็นซ้ำๆ ควรตัดสินใจมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโสต ศอ นาสิกแพทย์โดยไม่ต้องลังเล เนื่องจากให้การรักษาที่เกินจำเป็นจากการที่ซื้อยาปฏิชีวนะเองบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาตามมา ในขณะเดียวกันหากได้รับการรักษาที่ล่าช้าก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้เช่นกัน

 

พญ.ภัทรมน วิจักขณาลัญฉ์
โสต ศอ นาสิกแพทย์
อนุสาขา โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ
เชี่ยวชาญโสต ศอ นาสิกวิทยาในเด็ก
 
Privacy Settings