เมื่อลูกน้อยเป็นโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease)

โรคคาวาซากิเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ มักพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี

โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คืออะไร

เมื่อได้ยินคำว่า “โรคคาวาซากิ” คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยคืออะไร โรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลางทั่วร่างกายซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักมีอาการไข้สูงนานเกิน 5 วัน ร่วมกับการอักเสบของเยื่อบุในตา ปาก และลำคอ พบต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ มีผื่นตามลำตัว แขน ขา บางรายพบมือเท้าบวม ฝ่ามือและฝ่าเท้าแดง โดยความสำคัญของโรคนี้คือทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อมีการอักเสบอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจทำงานล้มเหลวและอันตรายถึงชีวิตได้ โรคคาวาซากิเป็นโรคที่รักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วภายใน 10 วันแรกจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยสังเกตุลูกน้อยของเราว่ามีอาการที่น่าสงสัยหรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ต้องได้รับการรักษาและติดตามในระยะยาว

ระวัง ! โรคคาวาซากิมักพบในเด็กเล็ก

เชื่อว่าโรคคาวาซากิเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ มักพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (ประมาณ 1.5:1)

โรคคาวาซากิ เกิดจากสาเหตุอะไร

การศึกษาในปัจจุบันชี้ว่าอาจเกิดได้หลังจากมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด การติดเชื้อดังกล่าวจะไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย และเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง (coronary artery aneurysm) ได้ ในบางรายจะเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบจากผนังหลอดเลือดหนาร่วมด้วย ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้หัวใจทำงานได้ลดลง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีความเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อหัวใจได้สูง

อาการเตือนที่พ่อแม่ควรสังเกต เมื่อลูกน้อยไม่สบาย

อาการที่น่าสังเกตของโรคคาวาซากิคือ มีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ลักษณะไข้จะสูงลอยทั้งวัน และไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ ร่วมกับอาการบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  1. ตาขาวแดงทั้งสองข้าง แต่ไม่มีขี้ตา
  2. มีอาการริมฝีปากแดง แห้งแตก อาจมีเลือดซึม ลิ้นบวมแดงเป็นตุ่มๆ คล้ายผิวสตอร์เบอร์รี่ (Strawberry tongue)
  3. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มักโตข้างเดียว ไม่เจ็บ และขนาดใหญ่เกิน 1.5 เซนติเมตร
  4. มีผื่นตามตัวและแขนขา ผื่นเป็นได้หลายแบบ แต่ไม่เป็นตุ่มน้ำใส พบมีบวมแดงบริเวณที่เคยฉีดวัคซีนกันวัณโรคที่หัวไหล่ประมาณร้อยละ 60
  5. ในระยะแรกจะมีอาการบวมของหลังมือและเท้า และฝ่ามือฝ่าเท้าแดงแต่ไม่เจ็บ ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 จะพบผิวหนังลอกที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า
**อาจพบอาการแสดงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการท้องเสีย ปวดท้อง ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ และ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ อยู่ที่หัวใจ !

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคคาวาซากิ ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่ (Coronary artery) พบได้ถึงร้อยละ 15-25 สำหรับในรายที่ไม่ได้รับการรักษา เส้นเลือดโคโรนารี่เป็นเส้นเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อมีการอักเสบอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือหัวใจทำงานล้มเหลว อันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อไหร่จะวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคคาวาซากิ

  • วินิจฉัยจากมีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ร่วมกับอาการต่างๆมากกว่า 4 ใน 5 ข้อ ร่วมกับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยสนับสนุน
  • บางรายมีไข้สูงนานร่วมกับอาการน้อยกว่า 4 ข้อ หรือ มีไข้สูงอย่างเดียวเป็นเวลานานที่หาสาเหตุไม่พบ ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและการทำเอคโคหัวใจ
  • การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
    • การตรวจเลือด (Blood Tests) เพื่อดูการอักเสบของร่างกาย จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น เซลล์เม็ดเลือดแดงที่น้อยลง ปริมาณโปรตีนไข่ขาว (Albumin) ที่ต่ำ รวมถึงตรวจเอนไซด์ตับในเลือดว่าสูงหรือไม่
    • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น
  • การทำเอคโคหัวใจ (Echocardiography) คือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เพื่อประเมินลักษณะของหลอดเลือดหัวใจอักเสบหรือโป่งพองหรือไม่ รวมถึงประเมินการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และการทำงานของหัวใจ เพื่อช่วยประกอบในการวินิจฉัย

โรคคาวาซากิจะรักษาอย่างไร

เมื่อพบว่าเป็นโรคคาวาซากิ ควรได้รับการรักษาภายใน 10 วันจากที่เริ่มมีอาการ หรือเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพองลงมาเหลือร้อยละ5โดยยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่

  1. ให้ยาอิมโมโนโกลบูลิน (Intravenous Gammaglobulin, IVIG) ทางหลอดเลือด ช่วยลดการอักเสบและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับหัวใจ ซึ่งยาอาจมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ที่รุนแรง จึงควรให้นอนในโรงพยาบาลเพื่อการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
  2. ให้ยาแอสไพริน (Aspirin) ขนาดสูง เพื่อลดการอักเสบ อาการปวด อาการบวมของข้อ ลดไข้ และป้องกันเลือดแข็งตัวจากเกล็ดเลือดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน **โดยทั่วไปผู้ป่วยจะตอบสนองได้ดีต่อการรักษา มีประมาณร้อยละ 10 ที่ผู้ป่วยดื้อต่อการรักษา ต้องให้ยาอิมโมโนโกลบูลินเพิ่ม

โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่

โรคนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดีถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และมีโอกาสเกิดซ้ำได้แต่พบน้อยมาก ประมาณร้อยละ 1-3

จะดูแลลูกน้อยอย่างไรหลังออกจากโรงพยาบาล

  • หลังได้ยาอิมโมโนโกลบูลินขนาดสูง จะต้องเลื่อนวัคซีนที่มีชีวิต (lived attenuated) ออกไปอย่างน้อย 11 เดือน นับจากได้รับยา ได้แก่ วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR), วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis vaccine)
  • หลังจากไข้ลดลงแล้ว ต้องทานยาแอสไพรินขนาดต่ำต่ออีกประมาน 60 วัน หรือจนกว่าหลอดเลือดหัวใจโป่งพองจะกลับเป็นปกติ
  • ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สามารถเล่นและทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป
  • ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง มีโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ จะต้องรับการรักษาต่อเนื่องจากกุมารแพทย์โรคหัวใจด้วยการตรวจเอคโคหัวใจเป็นระยะ หากมีอาการที่สงสัยเช่น ร้องกวนมาก หายใจหอบเหนื่อย ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ให้รีบมาโรงพยาบาลเพื่อประเมินภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและให้การรักษาอย่างรวดเร็ว
 

พญ.ประทับใจ นิ่มบริบูรณ์พร
กุมารแพทย์โรคหัวใจ

Privacy Settings