นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่างๆ จนกลายเป็นก้อนแข็งที่มีชนิดและขนาดแตกต่างกัน โดยมักจะพบที่ไตบริเวณกรวยไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นผลมาจากการปัสสาวะเข้มข้นมากและตกตะกอนเป็นนิ่ว ซึ่งนิ่วในไตมีโอกาสเป็นซ้ำได้
อาการที่กำลังบ่งบอกว่าเป็นนิ่วในไต ได้แก่
- ปวดเอวข้างที่มีก้อนนิ่ว
- ปวดหลังหรือช่องท้องช่วงล่างข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดเสียด ปวดบิดเป็นพักๆ
- มีไข้หนาว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปัสสาวะขุ่นแดง
- ปัสสาวะเป็นเม็ดทราย
- ปัสสาวะแล้วเจ็บ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะไม่ออก
การรักษานิ่วในไตส่วนใหญ่รักษาตามชนิดและสาเหตุ ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด หากนิ่วมีขนาดก้อนเล็กมากอาจหลุดออกมาได้เอง โดยการดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งยาช่วยขับก้อนนิ่วตามความเหมาะสม
- การใช้เครื่องสลายนิ่ว (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวและขับออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจเจ็บเล็กน้อยและมีผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมา จึงควรทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด
- การส่องกล้องสลายนิ่ว (Ureteroscopy) เป็นการสลายนิ่วขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีกล้อง Ureteroscopy ติดอยู่ด้วยเข้าไปทางท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อขับออกมาทางปัสสาวะ
- การรักษาแบบผ่าตัด (PercutaneousNephrolithotomy : PCNL)ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่และรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็กๆ บริเวณหลังของผู้ป่วยแล้วใช้กล้องส่องเพื่อนำเครื่องมือสอดเข้าไปทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็ก จากนั้นจึงคีบก้อนนิ่วออกมาทางรูเดิม ซึ่งวิธีนี้ต้องพิจารณาและทำการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเท่านั้น
ป้องกันนิ่วในไต
- ดื่มน้ำให้มากช่วยลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่ว
- กินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ
- เลี่ยงเค็ม ลดเกลือในมื้ออาหาร
- ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย
- กินผักให้เยอะช่วยลดโอกาสเกิดนิ่ว
แหล่งที่มา: