โรคหัวใจในเด็กคืออะไร
โรคหัวใจในเด็กสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิด ช่วงวัยทารก ช่วงวัยเด็กเล็ก เด็กโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โรคหัวใจที่เป็นภาวะความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดเรียกว่า “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” พบได้ตั้งแต่ชนิดที่ไม่ซับซ้อนจนถึงซับซ้อนมากซึ่งมักมีอาการรุนแรงและทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อทราบว่าลูกน้อยเป็นโรคหัวใจจะสร้างความกังวลใจอย่างมากให้แก่ครอบครัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกน้อยควรมาทำความรู้จักและเข้าใจกับโรคหัวใจในเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ
โรคหัวใจในเด็กมี 2 ประเภท
1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ โรคที่เกิดจากความบกพร่องของหัวใจแต่กำเนิด เนื่องจากปัญหาในช่วงแรกของการพัฒนาโครงสร้างของหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มารดาติดเชื้อในระหว่าง3เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน โรคเริม การใช้ยาบางประเภทระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาอาการชัก ยาลดความดัน ยากลุ่มวิตามินA ยาเสพติดกลุ่มamphetamines และ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
2. โรคหัวใจที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคหัวใจรูมาติก และ โรคคาวาซากิ เป็นต้น
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดพบได้ตั้งแต่ชนิดที่ไม่ซับซ้อนจนถึงซับซ้อนมาก
โรคหัวใจแต่กำเนิดแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการตัวเขียว ตรวจพบระดับค่าออกซิเจนในเลือดเป็นปกติ บางรายไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจตรวจพบเพียงเสียงฟู่ในหัวใจโดยบังเอิญ ถ้ามีความผิดปกติมากจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ดูดนมแล้วเหนื่อย หายใจแรงมากกว่าเด็กปกติ ใช้เวลาในการดูดนานกว่าปกติ มีเหงื่ออกมากเวลาดูดนม และมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป ตัวอย่างเช่น
โรคผนังกั้นหัวใจรั่ว
- ชนิดที่ผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว Atrial septal defect (ASD)
- ชนิดที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่วVentricular septal defect (VSD)
โรคเส้นเลือดหัวใจเกิน Patent ductus arteriosus (PDA)
โรคลิ้นหัวตีบ
- ชนิดลิ้นหัวใจพัลโมนารี่ตีบPulmonary stenosis (PS)
- ชนิดลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบAortic stenosis (AS)
2. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว
ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเขียว ตรวจพบระดับค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ บางรายมีอาการเขียวมากตั้งแต่แรกเกิดซึ่งมักจะมีอาการที่รุนแรง และอาจต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหัวใจ หรือทำหัตถการเพื่อการรักษาผ่านทางสวนหัวใจ ตัวอย่างเช่น
- โรคหัวใจที่มีหลอดเลือดสลับตำแหน่งTransposition of great artery (TGA) จะมีอาการตัวเขียวและหัวใจล้มเหลวตั้งแต่กำเนิด
- โรคหัวใจTetralogy of Fallot (TOF) เป็นโรคหัวใจชนิดเขียวที่มีความผิดปกติในหัวใจหลายตำแหน่ง ทำให้เกิดกาอุดกั้นทางเดินเลือดไปปอด ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเขียว และเขียวมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อโตขึ้น มักมีอาการกลั้นเขียวเวลาออกแรง ร้องไห้ หรือตอนเบ่งถ่าย ผู้ป่วยจะมีอาการเขียวม่วงมากขึ้น บางรายพบรุนแรงมากจนหมดสติได้ ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหัวใจ
สรุปอาการของโรคหัวใจ
- ไม่มีอาการใดๆ หรือ ตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจโดยบังเอิญ
- มีอาการตัวเขียวม่วงริมฝีปาก ผิวหนัง นิ้วมือ นิ้วเท้า มากกว่าเด็กปกติ
- มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ดูดนมแล้วเหนื่อย หายใจแรงมากกว่าเด็กปกติ ใช้เวลาในการดูดนานกว่าปกติ มีเหงื่ออกมากเวลาดูดนม
- มีการเจริญเติบโตที่ช้า เลี้ยงไม่โต
- มีประวัติการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างบ่อยๆและรุนแรง
- มีอาการกลั้นเขียว คือ เขียวเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันตามหลัง การออกแรง ตื่นนอนตอนเช้า หรือร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ภาวะซีด ผู้ป่วยจะมีอาการเขียวม่วงมากขึ้นกว่าเดิมร่วมกับหายใจหอบลึก บางรายพบรุนแรงมากจนซึม ชัก หรือหมดสติได้
โรคหัวใจสามารถรักษาได้อย่างไร
สามารถแบ่งการรักษาตามประเภทและความรุนแรงของโรค
- ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง จะสามารถหายได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจอย่างใกล้ชิด
- ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยยา เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ภาวะเขียว อาการหัวใจวาย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเจริญเติบโตได้ใกล้เคียงเด็กปกติ และทำการผ่าตัดหัวใจเมื่อเวลาที่เหมาะสม
- ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ต้องการการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงเลือกใช้วิธีการสวนหัวใจและหลอดเลือดเพื่อการรักษา โดยพบว่าได้ผลการรักษาที่ดี หรือหากในกรณีที่รุนแรงมากก็จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายหัวใจ (Heart transplantation)
การดูแลรักษาเบื้องต้นทั่วไป
- การดูแลด้านโภชนาการ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง รสเค็มและรสจัด
- การให้ธาตุเหล็กเสริม เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
- การดูแลรักษาสุขภาพปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ป้องกันฟันผุ และพบทันตแพทย์ ทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อในหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไป
- การรับวัคซีนตามเกณฑ์ และวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine) และ วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV)
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม