โรคงูสวัดกับผู้สูงอายุ

โรคงูสวัดกับผู้สูงอายุ

รู้จักโรคงูสวัด 

โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ทำให้มีอาการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแสบร้อนและมีผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาท บริเวณที่พบได้บ่อยคือ แนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้าหรือแขนขาก็ได้


ความรุนแรงของโรคงูสวัด

ผู้สูงอายุจะมีการแพร่กระจายของโรคและความรุนแรงของโรคมากขึ้นตามอายุ โดยกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นงูสวัดจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (Post – Herpetic Neuralgia) ซึ่งอาการจะเป็นยาวนานหลายเดือนหรืออาจเป็นปีได้ อาการปวดจะเป็นมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้เกิดความเครียด และในผู้ป่วยบางรายร้ายแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตเพราะอาการปวด


ใครเสี่ยงโรคงูสวัด

ทุกคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัด ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเป็นได้มาก เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดลง โดยอุบัติการณ์การเกิดงูสวัดจะพบประมาณร้อยละ 30 ในประชากรทั่วไป และจะเพิ่มถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี


ป้องกันโรคงูสวัด

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคงูสวัดคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งผู้สูงอายุทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนทุกคน ถ้าไม่มีข้อห้าม รวมไปถึงคนที่เคยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ยังควรจะได้รับวัคซีน เพราะวัคซีนจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำและลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอาการปวดตามแนวเส้นประสาทที่พบตามมาได้บ่อย ๆ


ผลข้างเคียงเมื่อฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่พบนั้นไม่รุนแรง โดยพบได้ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน คือ บวม แดง คันในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ไม่ต่างกับการฉีดวัคซีนตัวอื่น  ซึ่งอาการนี้จะพบได้ใน 1 – 2 วันแรกหลังฉีดวัคซีนและจะหายไปได้เอง ส่วนผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้ คือ ปวดศีรษะ ซึ่งพบแค่ประมาณ 1 ใน 70 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings