"มะเร็งปอด" โรคร้ายที่คร่าชีวิตอันดับ 1 ของโลก

มะเร็งปอด

อุบัติการณ์โรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี พ.ศ. 2551 มีผู้ป่วยรายใหม่จํานวน 12.7 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งราว 7.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 13% จากสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ซึ่งจํานวนผู้เสียชีวิตพบได้มากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกัน

โรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก ในบรรดาผู้ป่วยใหม่จํานวน 12.7 ล้านคน พบมะเร็งปอด 1.6 ล้านคน ส่วนจํานวนผู้เสียชีวิต 7.6 ล้านคนเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด 1.37 ล้านคน

จากข้อมูลของสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 61,082 คน เป็นเพศชาย 35,437 คน เป็นเพศหญิง 25,645 คน ซึ่งถือเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพศชายมีจํานวนผู้เสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปากและคอยหอย มะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนเพศหญิง มีจํานวนผู้เสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลําไส้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งปอดเป็นปัญหาสําคัญ 1 ใน 5 อันดับแรกของประเทศ ซึ่งได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลําไส้ใหญ่

สถานการณ์ภาพรวมของอัตราการเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทยคล้ายกับประชากรทั่วโลก กล่าวคือ จะพบอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคืออายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของโรคก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และขณะนี้สังคมไทยก็กําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)


สาเหตุมะเร็งปอด

โรคมะเร็งเกิดจากหลายสาเหตุ สำหรับโรคมะเร็งปอดสาเหตุหลักสำคัญอันดับ 1 คือ การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่จากผู้ใกล้ชิด (Second Hand Smoker) สารก่อมะเร็งอาจมาจากสภาวะแวดล้อมและการทำงาน ได้แก่ Radon และ Asbestos มลภาวะในอากาศ และความผิดปกติของพันธุกรรม

 

อาการมะเร็งปอด

ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อมาตรวจเช็กสุขภาพ บางรายอาจมีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก ไอมีเสมหะปนเลือด ปอดอุดตันอักเสบ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือเมื่อโรคมะเร็งลุกลามไปกระดูกอาจมีอาการปวดหลัง หรือปวดบริเวณตำแหน่งของกระดูกที่มะเร็งกระจายไป เมื่อลุกลามไปที่ตับอาจมีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ถ้าลุกลามไปสมอง อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น


ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ทำให้ตรวจพบโรคในระยะแรก สามารถให้การรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที ผลการรักษาจะดีกว่าการปล่อยให้โรคเรื้อรังจนมีอาการของโรคมะเร็งและมีการกระจายไปยังอวัยวะสำคัญอื่นแล้ว

จากการศึกษาในต่างประเทศ กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด คือ ผู้ที่สูบบุหรี่ การตรวจด้วยเครื่อง CT scan (Low dose CT) สามารถตรวจพบโรคมะเร็งปอดในระยะแรกได้เพิ่มขึ้น  สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วย X-Ray ปอดธรรมดา

 

Privacy Settings