ปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ ทำให้มีปัสสาวะไหล เล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ และอาจรู้สึกปวดปัสสาวะมากจนกลั้นไว้ไม่อยู่ โดยอาจเกิดขึ้นขณะไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก ซึ่งปกติแล้วจะพบในผู้หญิงสูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในผู้หญิงอายุน้อยด้วยเช่นกัน
ปัสสาวะเล็ดในผู้หญิงเกิดจากอะไร
เกิดจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งเส้นเอ็นที่พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงอ่อนแอลง หรือเกิดภาวะหย่อนยานของผนังช่องคลอดด้านหน้า ทำให้ไม่สามารถพยุงท่อปัสสาวะไม่ให้มีการหย่อนตัวได้ ซึ่งในขณะที่เรา ไอ จาม หรือออกกำลังกายนั้นจะมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้องเกิดขึ้น ส่งผลให้ท่อปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะที่หย่อนตัว ไม่สามารถปิดกั้นแรงดันปัสสาวะที่ถูกส่งผ่านแรงดันมาจากในกระเพาะปัสสาวะได้ จึงทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดออกมานั่นเอง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดแบ่งออกเป็นแต่ละประเภทดังนี้
- อายุที่มากขึ้น มีส่วนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานกระเพาะปัสสาวะ เกิดความเปลี่ยนแปลงและบรรจุน้ำปัสสาวะได้น้อยลง
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยให้เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะมีความแข็งแรง และเมื่อผลิตฮอร์โมนนี้น้อยลงจึงทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวเสื่อมสภาพ
- การคลอดบุตร โดยเฉพาะจำนวนของการคลอดบุตร จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอลง จนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (คนอ้วน) หรือ โรคอ้วน เพราะไขมันส่วนเกิน จะเข้าไปกดทับบริเวณท้องน้อย เพิ่มแรงกดทับลงบนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีการบีบตัวส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลเล็ดออกมาได้
การวิธีป้องกันปัสสาวะเล็ด สามารถปฏิบัติได้ตามนี้
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำและต่อเนื่อง
- ไม่กลั้นปัสสาวะ เมื่อปวดให้เข้าห้องน้ำทันที
- ควบคุมน้ำหนัก
- หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
- ตรวจร่างกายผู้ชายและตรวจสุขภาพผู้หญิงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ