ลุกก็โอย... นั่งก็โอย ดูจะเป็นอาการของคนที่อายุเริ่มมากขึ้น โดยอวัยวะที่มักมีอาการปวดบวมส่วนใหญ่ มักเป็นบริเวณข้อที่ใช้รับน้ำหนักมากหรือเคลื่อนไหวมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกคอ แต่ที่มากที่สุด เห็นจะเป็น ข้อเข่า ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการกดกระแทกอยู่เป็นประจำ ส่วน ข้อสะโพก ก็เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาที่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายในขณะยืน เดิน วิ่ง นั่ง และนอน ที่หากผ่านการใช้งานนานๆ อาจเกิดการสึกหรอได้
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม โรคกระดูกเสื่อม
อาการของโรคข้อเสื่อมที่พบบ่อย คือ มีอาการปวดตามข้อบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ หลัง เอว แขน มือ เข่า และเท้า มีเสียงหรือเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อ มีอาการบวมแดง ร้อนบริเวณข้อ รู้สึกขัด ตึง หรือเจ็บปวดบริเวณข้อ เมื่อปรับ เปลี่ยนท่าหลังจากอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งคุกเข่า หรือขัดสมาธิ มีอาการปวดข้อ ตึง หรือขัด แบบเป็นๆ หายๆ ซึ่งจากอาการข้างต้นนั้น ในกรณีของข้อเข่าหากมีอาการมาก บางคนถึงขั้นเดินกะเผลก ข้อเข่าโก่ง เดินขัดๆ ในบางรายเวลาเคลื่อนไหวเข่าจะได้ยินเสียงกระดูกลั่น หรือบางครั้งถ้ามีอาการมาก อาจรู้สึกร้อน บวม และปวดมากขึ้น
สาเหตุหลักของโรคข้อเข่าเสื่อม มาจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนบุข้อ ที่เกิดจากการใช้งานหนัก เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของข้อต่อตามอายุและการใช้งาน ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ ส่วนอาการปวดข้อที่มักจะเกิดขึ้นในวัยทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ความเสื่อมที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา และรวมไปถึงกลุ่มความเสี่ยงที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก
อาการของโรคข้อสะโพกเสื่อม โรคกระดูกเสื่อม
ส่วนข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานมานาน กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อนโรคข้อสะโพกเสื่อมนี้ มีข้อน่ากังวลอย่างหนึ่ง คือ บางครั้งเมื่อเป็นแล้วยากแก่การแยกอาการของโรค เพราะอาการปวดที่บริเวณสะโพกด้านหลังคล้ายคลึงกับโรคปวดหลัง ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ว่ากำลังป่วยด้วยโรคข้อสะโพกเสื่อม ทำให้ได้รับการรักษาไม่ตรงจุดจนโรคเรื้อรังและยากแก่การรักษา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบปัญหากระดูกสะโพกหักได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเวลาที่หกล้ม ขณะที่ในวัยกลางคน จะพบปัญหาข้อกระดูกสะโพกเสื่อม ในกลุ่มที่มีการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดี ไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกซึ่งยื่นขึ้นไปด้านบนได้ เป็นสาเหตุทำให้หัวกระดูกสะโพกตาย
อาการปวดสะโพกมีสาเหตุหลายอย่าง ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเดินในระยะไกลได้ เพราะปวดถ่วงที่บริเวณก้นและต้นขาด้านหลัง ซึ่งในกรณีนี้อาจมีสาเหตุจากช่องทางเดินของเส้นประสาทในกระดูกสันหลังแคบลงกว่าปกติมาก ทำให้หลอดเลือดที่ถุงเส้นประสาทและเส้นประสาทถูกบีบรัด ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดที่สะโพก เพราะมักจะปวดบริเวณง่ามขาด้านหน้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง เหมือนโรคกระดูกสันหลัง ที่สำคัญสามารถปวดในเข่าด้านในโดยเกือบไม่รู้สึกปวดที่สะโพกเลย ซึ่งอาการเหล่านี้จะรู้ได้ก็เมื่อหมั่นสังเกตุอาการตัวเอง และหากสงสัยว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
แนวทางการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม โรคกระดูกเสื่อม
การผ่าตัดโรคกระดูกเสื่อมเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้รับการยอมรับ และโดยทั่วไปแล้ว เมื่อได้รับการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาข้อสะโพกและข้อเข่ามาแล้วยังมีอาการปวดอยู่ และเข้าใจผิดไปว่าอาการปวดเกิดจากการผ่าตัด
เมื่อมีอาการปวดหลังผ่าตัดโรคกระดูกเสื่อม สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ แยกว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากข้อที่รับการผ่าตัดหรือไม่ หรือเกิดจากโรคที่จุดอื่นใกล้เคียงกับบริเวณข้อที่ผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่สะโพกและขาได้ คุณหมอวัลลภบอกพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากข้อแล้ว ในร่างกายคนเรายังมีระบบเส้นประสาท ซึ่งระบบเส้นประสาทของร่างกายมนุษย์หากเป็นโรคที่สะโพก ระบบประสาทปลายจะวิ่งไปที่เข่า แต่ต้นตอของโรคอยู่ที่สะโพก หรือหลังรับการผ่าตัดข้อเข่า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นรอบข้อที่ผ่าตัด แต่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากภายในข้อก็เป็นได้ หากตรวจพบก่อนก็สามารถแก้ไขลดความเจ็บปวดทรมานลงได้
อาการที่ผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อมควรทราบหลังรับการผ่าตัดรักษาแล้ว คือ อาจมีอาการบวมตึงอุ่นๆ ปวดบ้างนานประมาณ 3 - 6 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะยุบบวมกลับมาปกติใน 2 - 3 เดือน โดยเฉพาะ
ผู้ป่วยที่บริหารฟื้นฟูข้อตามคำแนะนำอย่างดีจะฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็ว ที่เห็นชัดเจนคือ เดินได้โดยไม่เจ็บ มีกำลังมากขึ้น งอเหยียดเข่าได้ดีขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดข้อสะโพกควรระวังตัว ไม่เคลื่อนไหวข้อสะโพกมากเกินไป จนทำให้ข้อสะโพกหลุดออกจากเบ้า เช่น ระวังไม่นั่งต่ำจนเกินไป ระวังไม่งอสะโพกชันเข่าเกิน 90 องศา ไม่บิดเข่าและปลายเท้าเข้าด้านในหรือนอกมากเกินไป ควรนอนอยู่บนเตียงแล้วบิดตัวท่อนบนไปอีกทาง จะช่วยลดอาการปวดและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรใส่ใจ คือ อย่าละเลยอาการปวดข้อ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก ซึ่งเป็นอวัยวะที่รองรับการทรงตัวของร่างกาย เมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อถนอมรักษาข้อเข่า ข้อสะโพกให้อยู่กับเราไปได้นานที่สุด