แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก
เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน อยู่ในกลุ่มเด็กเรียนดี 3 อันดับแรกของโรงเรียน คิดว่าคนเรียนดีควรเลือกเรียนแพทย์ เพื่อนในกลุ่มก็เลือกกัน และด้วยความที่คุณพ่อเป็นเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล เขาจะดูพวกแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ จึงรู้สึกสนใจด้านนี้ คุณพ่อก็สนับสนุนเต็มที่ ผมไปสอบระบบโควตาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้นเรียนพรีคลินิก 2 ปี คลินิก 4 ปี เป็นหลักสูตรใหม่ของประเทศไทยในยุคนั้น
ระหว่างเรียน ในช่วงแรกรู้สึกตื่นเต้นและกลัว เพราะเจอเรื่องกายวิภาคศาสตร์ แต่พอเวลาผ่านไปก็หายกลัว และเข้าใจว่าชีวิตคนจริงๆ เป็นอย่างไร ในความรู้สึกส่วนตัวคิดว่า กายวิภาคศาสตร์เป็นพื้นฐานทุกอย่างของการแพทย์ และถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของการทำงานด้านศัลยกรรม ขณะนั้นเป็นรุ่น 2 ของคณะแพทยศาสตร์ มข. ประทับใจว่า ถึงแม้จะมีความขาดแคลน เนื่องจากต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด บุคลากรและอุปกรณ์ไม่พร้อม รพ. ไม่มีต้องไปอยู่ hut hospital ใน มข. ต้องไปอาศัย รพ. ในจังหวัดขอนแก่นเป็นที่ฝึกทางคลินิก แต่กลายเป็นว่าอาจารย์กับลูกศิษย์มีความใกล้ชิดกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ความรู้ส่วนใหญ่ได้จากอาจารย์ และจาก Text ซึ่งหายาก มีแต่ภาษาอังกฤษ นั่นทำให้เราได้ทักษะทางภาษาอังกฤษ พอปี 6 ไปเป็นเอ็กเทิร์นตาม รพ. อำเภอ เช่น รพ. อำเภอพิมาย รพ.จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนั้นรู้สึกประทับใจ เพราะถึงแม้ยังไม่ได้เป็นแพทย์ ไม่มีเงินเดือน แต่ได้รับผิดชอบคนไข้ หลายครั้งมีโอกาสได้ดูแล รพ. เนื่องจากความขาดแคลนของแพทย์ หลังจากนั้นไปอินเทิร์นเป็นแพทย์ทั่วไป ที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี 1 ปี เวียนไปทุกวอร์ด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชอบและสนุกที่สุดในชีวิต ได้เป็นแพทย์ ได้ดูแลคนไข้ มีคนนับถือให้เกียรติ และที่นั่นเป็นบ้านของคุณแม่ คุณแม่เป็นคนอุบลราชธานี จังหวัดนี้ผู้คนเป็นมิตรและมีวัฒนธรรมที่ดี หลังจากนั้น ศ.นพ.ทองอวบ อุตรวิเชียร หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ มข. มาชวนให้เรียนศัลยแพทย์ทั่วไป เพราะเขาคงเห็นแววเรา จึงมาเรียนต่อศัลยศาสตร์ 3 ปี โดยเป็นลูกจ้างชั่วคราว หลังจากจบแล้วสอบได้บรรจุเป็นอาจารย์งานแพทย์ประจำบ้าน เป็นงานที่หนัก ต้องมีความรับผิดชอบมาก ถามว่าชอบไหม ผมถือว่าเป็นสัมมาอาชีพที่ต้องปฏิบัติให้ดี เพราะอาจารย์รุ่นเก่าๆ ทำเป็นตัวอย่างแล้ว ถ้าทำไม่ดีเราก็ไม่สมควรเป็นอาจารย์ ทำงานได้ 1 ปี อาจารย์ทองอวบแนะนำให้ไปเรียนศัลยแพทย์ทรวงอก เพราะที่ มข. มีแต่ศัลยแพทย์ทั่วไป จึงไปเรียนที่ รพ.ราชวิถี อีก 2 ปี ทางด้าน Thoracic surgery กับ ศ.นพ.พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ ซึ่งเก่งทางด้านการผ่าตัดลิ้นหัวใจ และเพื่อจะได้มีหลากหลายความคิด เลยมาเรียน Cardio scholastic** เป็นคำนี้ หรือ Cardiothoracic** เหตุที่ชอบศัลยแพทย์ทรวงอก เพราะเป็นการท้าทายความสามารถของเราและทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ ถ้าเราไม่เก่งจริงก็จะไม่ผ่านตรงนี้ เนื่องจากอวัยวะหัวใจในสมัยก่อนถือว่าเป็นอวัยวะที่ห้ามแตะต้อง เป็นความเป็นความตายของคนไข้ ตอนเรียนที่ราชวิถีในสมัยนั้นเทคโนโลยี เครื่องมือ ต้องใช้ความแม่นยำ การดูแลกล้ามเนื้อหัวใจ ความรู้ยังไม่ก้าวหน้า เราอาจทำดีที่สุดแต่ก็ยังไม่ถึงเป้าที่วางไว้ บางทีจะมีการปะทะกันระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ อาจเป็นความกดดันอย่างหนึ่ง แต่ลูกศิษย์จะได้ดีทุกคน จากนั้นกลับมาที่คณะแพทยศาสตร์ มข. 2 ปี และไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 6 เดือน โดยไปที่ University of Minnesota และ Mayo Clinic Portland ,Toronto ,Chicago หลังจากนั้นกลับมาที่คณะแพทยศาสตร์ มข.
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด
- สิ่งที่ภูมิใจเรื่องแรก คือ ได้เป็นศัลยแพทย์ทรวงอก รู้สึกภูมิใจและโชคดีด้วย เราคิดจะมาตรงจุดนี้เองอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอาจารย์ที่ช่วยชี้แนะ บุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนร่วม รวมทั้งประสบการณ์ของเราด้วย
- เรื่องที่สอง การที่ได้เป็นนายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย เป็นความภูมิใจที่ได้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกที่ทำงานร่วมวิชาชีพ และทุกคนโหวตให้เป็นนายกสมาคม
- เรื่องที่สาม การที่ได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมไม่ใช่คนแรกที่เป็นผู้อำนวยการ แต่เป็นคนแรกที่มาจากการสรรหา มีการเสนอชื่อ มีการโหวต มีกรรมการสอบสัมภาษณ์ มีการแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยแรก น่าจะมาจากการทำงานโดยมีหลักการ ผมยึดหลักอิทธิบาท 4 ในการดำเนินชีวิตให้สำเร็จ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ความรักชอบในสิ่งที่ทำ ความขยันหมั่นเพียรในงานที่ทำ การรู้จักวิเคราะห์ พัฒนาปรับปรุงแก้ไข และทำให้มันดี ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ถ้ารักใครชอบใครและทำใจรักแค่ครึ่งเดียวจะทำได้ไม่ดี เราต้องรักและทุ่มเท 100% หมายความว่า มันจะทำให้เราพัฒนาเรื่องความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และเทคนิคทั้งหลายได้เต็มที่ เวลามีปัญหาตรงไหน ทำไมตรงนี้ทำช้า ต้องไปศึกษา ไปเปิด Text จะทำให้ความสามารถในการดูแลรักษาคนไข้ดีขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเรื่องการผ่าตัดลิ้นหัวใจ จำนวนคนไข้ที่ได้รับการอนุมัติให้รับการผ่าตัดมีไม่เพียงพอกับคนไข้ที่รอคิว ทำให้เกิด drop dead ขึ้น เราแก้ปัญหาโดย เอาทรัพยากรที่มีทุกอย่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระดมสมองแพทย์หลายสาขา สุดท้ายทำให้เกิดชมรมแพทย์โรคหัวใจแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมา เพื่อแก้ไขการขาดแคลนทรัพยากร และเสนอให้มีการจัดตั้ง ศูนย์หัวใจสิริกิติ์แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน จนกระทั่งสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นอนุมัติ และจัดตั้งศูนย์หัวใจให้ฐานะระยะเริ่มต้นเทียบเท่า faculty
ปัจจัยที่สอง ระบบคุณภาพ Healthcare Accreditation (HA) เป็นแนวทางการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคิดเป็นระบบ มีการบริหารจัดการที่ดี รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร เครื่องมือที่ใช้เป็นอะไร และวัดผลอย่างไร ระบบคุณภาพมีเครื่องมือ ถ้ามีปัญหาจะทำอย่างไร การประชุมที่ดีควรประชุมอย่างไร องค์ประกอบคืออะไร การบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง การพัฒนาบุคลากรจะพัฒนาอย่างไร ดัชนีชี้วัดความสำเร็จต้องมีอะไร
ปัจจัยที่สาม แพทย์ต้องเป็นตัวอย่างของชาวบ้านในการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของตัวเอง ผมดูแลสุขภาพของตัวเองมาตั้งแต่ต้น เวลาผมรู้สึกเครียด กดดัน ผมไปวิ่ง ซึ่งทำมาตลอด ผมเป็นนักกีฬา เล่นกีฬามาหลายชนิด ทั้งทีมบาสเกตบอล ทีมแบดมินตัน ทีมตะกร้อ
ทางด้านจิตใจ ผมศึกษาธรรมะเป็นหลัก อานาปานสติ รู้จักมาตั้งแต่ประถม ปัจจุบันนี้ก็ยังทำอยู่ ยังเจริญสติปัฏฐาน 4 อยู่ ให้รู้ว่าเวลาทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร นำมรรคมีองค์ 8 และอริยสัจ 4 มาใช้
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว เนื่องจากครอบครัวผมมาจากข้าราชการชั้นจัตวา จึงมีเงินจำกัด แต่พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกชายทั้ง 7 คน ต้องทำตัวให้คุ้นเคยกับการอยู่แบบพอเพียง พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ต้องกินน้อยอยู่เขียม
เรื่องสุขภาพ ผมดูแลสุขภาพมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2556 ผมเป็น Heart attack และหัวใจหยุดเต้น ที่เขาเรียกว่า หมองูตายเพราะงู ขณะที่ไปเป็นวิทยากรการประชุมที่จังหวัดอุบลราชธานี ผมรู้สึกแน่นหน้าอก และสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ เข้าห้องสวนหัวใจและใส่ stent เส้นเลือดหัวใจจึงรอดมาได้ เหตุการณ์นี้เกิดจากการที่มีไขมันในเลือดสูง ตัวการนี้ทำให้มีการหนาตัวของเส้นเลือดหัวใจ และผนังเส้นเลือดหัวใจก็แตกและตัน การออกกำลังกายไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะไม่เป็นโรคหัวใจ เพราะวันก่อนยังไปวิ่งอยู่เลย ปัจจัยยังมาจากสิ่งอื่นๆ อีก เช่น คุณสูบบุหรี่ไหม อาหารมีส่วน ความอ้วน เบาหวาน ความดัน อารมณ์ ความเครียด ทำให้อะดรีนาลีนออกมา ทำให้เส้นเลือดหดตัวบ่อย ต้องดูแลไขมันให้ต่ำลง จากเดิมไม่เคยกินยาลดไขมันก็ต้องกิน คุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้เวลาฟื้นตัวเป็นเดือน
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
ปัจจุบันมีลูก 2 คน ใจจริงอยากมี 3 คน เพราะจะได้อบอุ่น เดิมตั้งเป้าไว้อยากมี 4 คน แต่พอภรรยาคลอดลูกคนแรก ดูทรมานเหลือเกิน เลยลดลงเหลือ 3 คน พอคลอดคนที่ 2 ต้องผ่าออก รู้สึกสงสาร เพราะตอนผ่าต้องบล็อกหลังแบบ high block ขึ้นมาสูงจนหายใจไม่ได้ ต้องใส่ Endotracheal Tube คิดว่าเจ็บ ทรมาน และการคลอดแต่ละครั้งเสี่ยง จึงมีลูกแค่ 2 คน
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อเป็นต้นแบบในการสู้ชีวิต ท่านเป็นข้าราชการชั้นจัตวา ต้องทำงานนอกเวลาเกือบทุกวัน เพื่อจะได้เบี้ยเลี้ยงมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งมีลูกชายถึง 7 คน ทั้งดื้อ ซน กำลังกินกำลังนอน คุณแม่ จบชั้น ป.4 แต่ท่านเป็นคนที่ genius และมี common sense สามารถดูแลลูกได้ดี ปลูกฝังว่าชอบอะไรก็เรียนอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะซ้ำกัน พี่น้องผมมีหลากหลายอาชีพ เพราะจะได้พึ่งพากัน
คนที่สอง ศ.นพ.ทองอวบ อุตรวิเชียร ผู้ก่อตั้งภาควิชาศัลยศาสตร์ มข. ท่านเป็นต้นแบบทางด้านเป็นนักวิชาการตัวจริง ตอนนี้อายุจะ 80 ปี ยังเลกเชอร์นักศึกษาแพทย์อยู่เลย อาจารย์ผ่าตัดจนกระทั่งเดินไม่ได้ ถึงจะหยุดผ่าตัด ท่านค้นคว้าความรู้ อัปเดตตลอด ไม่ต้องพูดถึงเรื่องจริยธรรมทั้งหลาย ต้องให้อาจารย์เป็นต้นแบบ สอนการดูแลคนไข้แบบองค์รวม อาจารย์ดูแลคนไข้ไม่เคยเกิดปัญหา ดูแลเหมือนญาติ
คนที่สาม ศ.นพ.พันธุ์พิษณุ์ สาครพันธ์ จุดแข็งของอาจารย์ท่านเป็นคน genius ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย คนหนุ่มสาวที่เก่งๆ อ่านเรื่องเดียวกันกับอาจารย์ อาจารย์อ่านแตกฉานกว่า อาจารย์ศึกษาธรรมะจนกระทั่งไปสอบพระพุทธธรรมกับพระที่ไปเรียนที่ มหาจุฬาลงกรณ์ ตอนอาจารย์เกษียณ อาจารย์ทำหนังสือธรรมะเล่มใหญ่ เขียนด้วยตัวเอง ถ้าไปถกธรรมะกับอาจารย์ อาจารย์จะพูดได้แตกฉานและลึกซึ้งมาก
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
อีกคติที่ยึดถือ อตฺตานํ อุปฺมํ กเร คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา รักษาคนไข้เหมือนญาติมิตร อะไรที่เราไม่ชอบ โอกาสที่คนอื่นจะไม่ชอบมันก็มาก เราชอบคำพูดหวานๆ ก็อย่าไปตะคอกคนไข้ เราเจ็บป่วยต้องการการดูแล ต้องการเข้าใจโรคอย่างแจ่มแจ้ง คนไข้ก็เหมือนกัน ต้องบอกเขาว่าเป็นอะไร เวลาจะตัดสินใจทำอะไรกับเขา บอกทางเลือกและข้อดีข้อเสีย ทำแล้วจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง ปฏิบัติตัวระหว่างการรักษาและหลังการรักษาอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดเรื่องนี้อีก ต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง และที่สำคัญเราต้องมีเกราะในการป้องกันวิชาชีพแพทย์
- ความรู้ คือ ต้องมีความรู้ก่อน ถึงจะไปรักษาเขาได้ อย่าไปรักษาแบบไม่มีความรู้
- ต้องมีจริยา คือ ต้องมีแฮตทริก ความเมตตา กรุณา ต้องมีความเป็นมืออาชีพ รู้ว่าอาชีพเราทำอย่างไร ทำวิธีไหน เอาใจใส่คนไข้ ไม่ใช่หวังจะไปเอาเปรียบเขา ไปคุกคามเขา เอาความลับไปเปิดเผย
- ปัญญา คือ มีความรู้และนำไปใช้ให้เหมาะสมให้ถูกทาง พัฒนาต่อเนื่อง มันมีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้มันเปลี่ยนไปตามสังคม ตามปัจจัย เพราะฉะนั้นแพทย์ต้องก้าวทัน ถ้าทำอย่างนี้จะเป็นเกราะป้องกันทุกวิชาชีพ
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์เมืองไทย WHO เขาว่าเรา Re-ranking เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง เราทุกคนต้องต่อยอด ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับทรัพยากรขนาดนี้ จะทำให้ระบบบริการสุขภาพมันก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ตอนนี้เทคโนโลยีการรักษาคนไข้เราเป็นอย่างไรเมื่อเทียบเคียงกับต่างประเทศ ผมคิดว่า แบบเราดีสุดๆ กับเขาดีสุดๆ มันต่างกันไม่มากเท่าไร แต่จะกระจายการบริการ ประสิทธิภาพการดูแลให้ทั่วทั้งคน 70 ล้านได้อย่างไร ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน เทคโนโลยีที่เป็นไฮเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้เยอะมาก ทาง Cardiothoracic มีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า มันเหมาะกับประเทศเราไหม เหมาะกับการที่จะบริการทุกคนไหม คือ ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วก็ขาดทุน ต้องคิดและชั่งใจ ในขณะที่เราจน เราต้องเอาอิ่มท้องก่อน ถ้าเป็นเรื่องโรค ต้องเอาหายก่อน อย่าเพิ่งเอาสวยงาม ให้ทุกคนมีชีวิตช่วยตัวเอง ไม่เป็นภาระต่อสังคม เราจะทำกันอย่างไร ไม่ใช่ทุกคนสวยหมด ที่ไม่อิ่มท้องก็จะแย่ไป เป็นอย่างนั้นไม่ได้
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วๆ ไป เราต้องยึดหลัก อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จะทำให้อาชีพการงานก้าวไปข้างหน้า และขอให้ทุกคนศึกษาหาความรู้ทางการแพทย์ ซึ่งเปลี่ยนไปทุกวินาที อย่าให้เป็นแพทย์ปัจจุบันแผนโบราณ คือความรู้จะล้าหลังเร็วมาก แต่ในขณะที่ความรู้มาเยอะ ถ้าเราไม่กลั่นกรอง วิเคราะห์ให้ดี ก็จะนำความรู้ผิดๆ มาให้คนไข้ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแพทย์ทุกคนต้องใช้สติปัญญาในการที่จะเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสม
สำหรับแพทย์ในสาขาศัลยแพทย์ทรวงอกและหัวใจ ขอให้ทุกคน enjoy hard work ทำอย่างไรถึงจะมีความสุขกับงานหนัก ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จริงๆ มันคล้องจองกับวิชาแพทย์ที่เรามาประกอบโรคศิลปะ นี่เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะอยู่กับงานหนักอย่างมีความสุข คนจะมีความสุขมีแค่ 2 อย่าง คือ อย่าเบียดเบียนตนเอง คือ เมื่อเกิดความทุกข์ ต้องจัดการความทุกข์ให้ได้ และอย่าเบียดเบียนผู้อื่น คือ รับผิดชอบวิชาชีพ มีความรู้ จรรยา จริยา ในการที่จะดูแลรักษาคนไข้ ฝากรุ่นหลังไว้ว่า มันดูง่าย แต่ถ้ามาคิด วิเคราะห์ และทบทวน ส่องกระจกดูตนเอง จะรู้ว่าเรายังขาดอะไร และก็เติมให้มันเต็มและพัฒนา ส่วนที่จะเติมเต็มมันไม่มีวันเต็ม ถ้าหากว่าเราไม่ปรับเปลี่ยนนิสัยใจคอ ทำได้ไหมที่จะอ่าน journal ทุกวัน ทำได้ไหมที่จะ up-to-date เรื่องราววิชาชีพที่เราประกอบอยู่ทุกวันว่า ทางยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น เขาทำกันอย่างไร และเราทำอย่างไร ชาวบ้านควรจะได้อะไร ถ้าทำได้ชาวบ้านก็จะมีความสุข และเราก็จะมีความสุข จะ enjoy hard work
ถ้ารักใครชอบใครและทำใจรักแค่ครึ่งเดียวจะทำได้ไม่ดี เราต้องรักและทุ่มเท 100%