ภาวะบกพร่องที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการกลืน เป็นปัญหาที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยเด็ก และผู้ใหญ่ที่มีโรคทางระบบประสาทส่วนกลางที่ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อตั้งแต่ริมฝีปาก ลิ้น ช่องปาก คอหอย และหลอดอาหาร เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการรับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย การเจริญเติบโตพัฒนาการ และการประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ผู้ป่วยอาจได้รับผลแทรกซ้อนที่คุกคามต่อชีวิตเช่น ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลักอาหาร เป็นต้น
การฟื้นฟูภาวะการกลืนในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจำเป็นต้องอาศัยการประเมินที่ถูกต้องเพื่อบอกถึงความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะกลืนลำบาก และสามารถอธิบายได้ถึงอวัยวะและสรีรวิทยาที่เป็นปัญหา นำไปสู่วิธีการฟื้นฟูการกลืนที่เหมาะสม โดยการประเมินสามารถทำได้ 2 วิธีคือ ตรวจวินิจฉัยผ่านภาพถ่ายรังสี (Videofluoroscopic swallowing study: VFSS) และส่องกล้องประเมินการกลืน (Fiberoptic endoscopic evaluation of swallowing: VEES) ซึ่งแพทย์จะแนะนำแนวทางการประเมินและบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสม
- การปรับท่าทางในการกลืนอาหาร การปรับเนื้ออาหาร
- การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อปาก ลิ้น และคอหอย
- การฝึกกลืนด้วยอาหารเพื่อเพิ่มความสามารถของกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกลืน
- การกระตุ้นประสาทการรับความรู้สึกด้วยการใช้ความเย็น รวมถึงการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Neuromuscular Electrical Stimulation: NMES)
การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (NMES)
เป็นเทคนิคการรักษาที่ใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อของร่างกาย ในบริบทของการฟื้นฟูภาวะกลืนลำบากใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสหสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน โดยแนวทางสำหรับการฟื้นฟูด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าสำหรับภาวะกลืนลำบากนั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยระหว่างการกระตุ้นไฟฟ้าสำหรับภาวะกลืนลำบาก อิเล็กโทรดจะติดไว้บริเวณผิวหนังที่ปกคลุมเหนือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เช่น กล้ามเนื้อของลิ้นและลำคอ จากนั้นกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านอิเล็กโทรดเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ
งานวิจัยพบว่าการกระตุ้นไฟฟ้าสามารถใช้เพื่อปรับปรุงความแข็งแรง สหสัมพันธ์ และจังหวะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน ลดความเสี่ยงของการสำลักอาหาร เพิ่มความมั่นใจของผู้ป่วยเมื่อรับประทานอาหาร โดยการฟื้นฟูนั้น ควรเข้ารับการฝึกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนของผู้ป่วยกลับมาแข็งแรง สามารถกลืนอาหารได้อย่างปลอดภัยใกล้เคียงปกติมากที่สุด ช่วยเพิ่มภาวะโภชนาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยการตรวจวินิจฉัยและการฟื้นฟูการกลืน ยังสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนในกลุ่มโรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ พาร์กินสัน ภาวะสมองเสื่อม ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติปอดอักเสบจากการสำลัก ผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอด้วย อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกรายที่มีภาวะกลืนลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจหรืออุปกรณ์โลหะที่ฝังไว้ในร่างกาย หรือผู้ที่มีอาการระคายเคืองผิวหนังหรือมีบาดแผลเปิดในบริเวณใบหน้าและลำคอ
ทั้งนี้หากท่านสนใจเข้ารับการประเมินและการฟื้นฟูภาวะกลืนลำบากสามารถปรึกษากับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกิจกรรมบำบัดเพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ได้ที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น ให้บริการทุกวัน เวลา 9:00 - 17:00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 043-042-811
เอกสารอ้างอิง:
- Pownall, S., Enderby, P., Sproson, L. (2017). Electrical Stimulation for the Treatment of Dysphagia. In: Majid, A. (eds) Electroceuticals. Springer, Cham. https://doi.org/10.1007/978-3-319-28612-9_6
- Sun, Y., Chen, X., Qiao, J., Song, G., Xu, Y., Zhang, Y., Xu, D., Gao, W., Li, Y., & Xu, C. (2020). Effects of Transcutaneous Neuromuscular Electrical Stimulation on Swallowing Disorders: A Systematic Review and Meta-Analysis. American journal of physical medicine & rehabilitation, 99(8), 701–711. https://doi.org/10.1097/PHM.0000000000001397
- Zhang, Y. W., Dou, Z. L., Zhao, F., Xie, C. Q., Shi, J., Yang, C., Wan, G. F., Wen, H. M., Chen, P. R., & Tang, Z. M. (2022). Neuromuscular electrical stimulation improves swallowing initiation in patients with post-stroke dysphagia. Frontiers in neuroscience, 16, 1011824. https://doi.org/10.3389/fnins.2022.1011824
- ไพฑูรย์ เบ็จพรเลิศ. (2561) การประเมินภาวะกลืนลำบากโดยการใช้เครื่องมือ. ใน: ภัทรา วัฒนพันธ์, บรรณาธิการ. การฟื้นฟูสภาพการกลืน. พิมพ์ครั้งที่ 2. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. หน้า25-44.