คนมีโรคประจำตัวเสี่ยงเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่

คนมีโรคประจำตัวเสี่ยงเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่มีการระบาดใหญ่อย่างกว้างขวางเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ผู้คนทำงานในอาคาร ใช้ระบบหมุนเวียนอากาศร่วมกันหรือการเดินทางอาศัยระบบการขนส่งมวลชนที่ผู้คนแออัด ได้แก่ รถไฟ เครื่องบิน การเดินทางระหว่างประเทศรวดเร็วขึ้นเป็นผลทำให้เกิดการระบาดของโรคแพร่กระจายโดยง่ายและรวดเร็ว การป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนในบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายหลังเกิดโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza Virus)

ทำให้เกิดโรคกับระบบทางเดินหายใจ แต่มีความรุนแรงมากกว่าไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีความต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง

อาการไข้หวัดใหญ่

ไข้, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยตัว, เหนื่อย, ไอแห้งๆ, เจ็บคอ, มีน้ำมูก, ในเด็กอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ จะมีโอกาสในการเกิดโรคได้ตลอดปี แต่ระยะเวลาที่จะมีการระบาดมากในฤดูฝนและไวรัสไข้หวัดใหญ่จะติดต่อผ่านเสมหะของผู้ป่วยโดยการไอหรือจามแล้วเข้าสู่ปากและจมูกของผู้ใกล้ชิด ส่วนน้อยเกิดจากการสัมผัสกับเสมหะของผู้ป่วยที่ติดกับสิ่งของเครื่องใช้แล้วมือที่สัมผัสเชื้อมาสัมผัสที่ปากหรือจมูกจะเกิดโรคได้เช่นกัน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะติดต่อผ่านเสมหะของผู้ป่วยโดยการไอหรือจามแล้วเข้าสู่ปาก

ภาวะแทรกซ้อน

หลังเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ทำให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น ภาวะหัวใจวาย, หอบหืด, เบาหวาน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตได้

การป้องกันโรค

  • การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและเสมหะของผู้ป่วย
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสจมูก ตา ปากของตัวเองหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วย
  • เมื่อมีอาการที่สงสัยไข้หวัดใหญ่ ควรอยู่ห่างผู้อื่น ปิดปาก จมูก เวลาไอหรือจาม

ใครควรได้รับการฉีดวัคซีน

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง, หอบหืด, เบาหวาน, โรคไต, โรคหัวใจ, โรคตับ, โรคเอดส์
  • สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรังดังกล่าว
  • หญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป
  • ผู้ต้องการลดอันตรายจากการติดเชื้อ

ปกติควรฉีดวัคซีนก่อนช่วงที่จะมีการระบาดของโรค ในประเทศไทยควรฉีดระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคหลังการฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกปีเนื่องจากเชื้อไข้หวัดมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดและวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัส ไข้หวัดใหญ่เฉพาะสายพันธุ์ที่ฉีดได้ประมาณ 1 ปีเท่านั้น และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนสายพันธ์ุได้บ่อย วัคซีนที่ผลิตแต่ละปีจะเป็นวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปีนั้นเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนปีละครั้ง

ควรฉีดวัคซีนก่อนช่วงที่จะมีการระบาดของโรค

ประสิทธิภาพของวัคซีน

วัคซีนได้ผลในการป้องกันโรคประมาณ 70 – 90 % แต่ในผู้สูงอายุ การตอบสนองต่อวัคซีนจะน้อยลง เนื่องจากความต้านทานของร่างกายน้อยกว่าปกติ แต่ยังมีประโยชน์ในการลดภาวะแทรกซ้อน โอกาสที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้

 

 

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings