เมื่อลูกน้อยตรวจพบเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur)

เมื่อลูกน้อยตรวจพบเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur)

เสียงหัวใจ (Heart sound) คืออะไร

การตรวจการทำงานของหัวใจ แพทย์จะฟังเสียงหัวใจโดยใช้หูฟัง (stethoscope) โดยเริ่มจากการฟังจังหวะหัวใจ และเสียงหัวใจ (Heart sound) เป็นเสียงที่เกิดขึ้นขณะลิ้นหัวใจปิดโดยจังหวะหัวใจปกติจะมีสองเสียง ประกอบด้วยเสียง 1 (S1) และเสียง 2 (S2) ดัง “ตุบๆ” (lubb-dupp) เป็นจังหวะสม่ำเสมอ หัวใจเด็กทารกเต้นค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับเด็กโต ทำให้ต้องฟังเสียงหัวใจด้วยความตั้งใจ

เสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur) คืออะไร

เสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur) เป็นเสียงที่เกิดในระหว่างเสียงหัวใจปกติสองเสียง คล้ายกับเสียงเป่าลม ซึ่งเกิดขึ้นจากความปั่นป่วนของการไหลของเลือดในหัวใจหรือหลอดเลือด เสียงส่งผ่านขึ้นมาที่หน้าอก ภาวะเสียงฟู่ของหัวใจอาจเป็นตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดในเวลาต่อมาเมื่อโตขึ้น เสียงฟู่ที่เกิดขึ้นพบได้ทั้งในเด็กที่มีหัวใจปกติ หรืออาจชี้ให้เห็นถึงปัญหาของโรคหัวใจที่ซ่อนอยู่

เสียงฟู่ของหัวใจพบได้บ่อยเพียงใด และอาการของเสียงฟู่ของหัวใจ

เสียงฟู่หัวใจชนิดปกติ (innocent heart murmur)

อาการเสียงฟู่ของหัวใจแบบไม่เป็นอันตราย พบในเด็กที่อยู่ในวัยการเจริญเติบโต อาจฟังเสียงฟู่หัวใจได้โดยที่ไม่มีโรคหัวใจ พบได้ถึงร้อยละ 50 เด็กจะไม่มีอาการผิดปกติและมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ปกติ สาเหตุเกิดจากปัจจัยต่างๆที่ทำให้หัวใจมีการทำงานมากขึ้น เช่น

  • ภาวะไข้
  • ภาวะโลหิตจาง (anemia)
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism)
  • ภาวะความตื่นเต้นทางอารมณ์ หรือร่างกายมีความเครียด
  • การออกกำลังกาย

เสียงฟู่หัวใจผิดปกติ (pathological murmur)

อาการเสียงฟู่ของหัวใจแบบผิดปกติ อาจไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจน นอกเหนือจากเสียงผิดปกติที่แพทย์จะได้ยิน แต่ถ้าลูกน้อยมีสัญญาณแสดงหรืออาการเหล่านี้ อาจชี้ได้ว่ากำลังมีปัญหาเกี่่ยวกับหัวใจ เช่น

  • หัวใจเต้นเร็ว เด็กมีอาการหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
  • หายใจเร็ว เด็กหายใจเร็ว หายใจแรงมากกว่าเด็กปกติ
  • อาการเหนื่อยง่าย เด็กทารกจะดื่มนมน้อย ดูดนมได้ช้า หายใจแรงและเหนื่อยเวลาดูดนม มีเหงื่ออกมากเวลาดูดนม ใช้ระยะเวลาในการดูดนมนาน เด็กเล็กและเด็กโตมักไม่สามารถทำกิจกรรมได้เท่าๆ กับเด็กวัยเดียวกัน
  • ภาวะเขียว เด็กจะมีริมฝีปาก เหงือกและลิ้น ปลายมือ ปลายเท้าเขียว เล็บมีสีม่วงคล้ำ
  • เลี้ยงไม่โต เนื่องจากหัวใจและปอดทำงานมากกว่าปกติ ทำให้เด็กต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายจึงมีการเจริญเติบโตที่ช้า
  • อาการบวม มักพบในเด็กโต จะเริ่มบวมที่บริเวณหลังเท้า สันหน้าแข้งหรือข้อเท้า ในรายที่นอนจะพบว่าบวมบริเวณหลัง เมื่อกดเป็นรอยบุ๋มแล้วจะค่อยๆ คืนตัว แต่สำหรับเด็กทารกมักไม่ค่อยพบว่าบวม
  • อาการเจ็บหน้าอก มักมีการอาการเวลาออกแรง เช่น ออกกำลังกาย

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease)

เสียงฟู่อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ สาเหตุที่เกิดจาก ผนังกั้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดหัวใจเกิน ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดที่ซับซ้อน เป็นต้น พบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ โดยตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจได้โดยบังเอิญ หรือ อาการรุนแรงมากเนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการการผ่าตัดที่สามารถแก้ไขความผิดปกติเหล่านี้ได้ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถมีชีวิตรอดจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้

การวินิจฉัยภาวะเสียงฟู่ของหัวใจ

หากพบอาการความผิดปกติควรมาพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด จากนั้นถ้าแพทย์คิดว่าภาวะเสียงฟู่หัวใจผิดปกติ อาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่

  1. การเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูขนาดของของหัวใจ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด ถ้าหัวใจขยายโตขึ้นอาจหมายถึงอาการผิดปกติที่ซ่อนอยู่
  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากหัวใจ ทำให้ทราบหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ รวมถึงดูว่าห้องหัวใจโตได้
  3. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เป็นการตรวจพิเศษโดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ หลักการคล้ายกับการทำ Ultrasound โดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง แสดงภาพของการทำงานและโครงสร้างของหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ สามารถตรวจพบความผิดปกติภายในหัวใจได้ การตรวจวิธีนี้ ไม่เจ็บ ทำได้รวดเร็วและแม่นยำ โดยไม่มีข้อเสีย หรือความเสี่ยงจากรังสีเอกซเรย์
  4. เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นวิธีการที่ต้องพิจารณาเมื่อการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงไม่ชัดเจน ทำรายที่จำเป็นเท่านั้น
  5. การสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization) โดยทั่วไปจะทำรายที่จำเป็นและมีข้อบ่งชี้เท่านั้น ในการตรวจจะมีการสอดสายสวนเข้าสู่เส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดแดงในขาหรือแขนไปถึงหัวใจ โดยสามารถวัดแรงดันในห้องหัวใจ และ อาจมีการฉีดสี (contrast) เข้าไป เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นเลือดไหลผ่านหัวใจ เส้นเลือด และลิ้นหัวใจเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur) ในเด็ก

  • เสียงฟู่ของหัวใจเป็นเสียงที่พิเศษหรือผิดปกติ ที่เกิดจากเลือดที่ไหลปั่นป่วนผ่านหัวใจ
  • เสียงฟู่ของหัวใจจำนวนมากไม่เป็นอันตราย (innocent heart murmur)
  • เสียงฟู่ของหัวใจบางอย่างเกิดจากความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดหรือสภาพอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าพยาธิวิทยา
  • หากแพทย์ตรวจได้ยินเสียงฟู่หัวใจโดยบังเอิญ จะได้การแนะนำ เพื่อส่งต่อพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ในการตรวจเพิ่มเติม
  • แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันโรคหัวใจในเด็กได้ 100% แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ทันท่วงที สามารถช่วยให้เด็กรอดชีวิตและเจริญเติบโต มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อไป
 

พญ.ประทับใจ นิ่มบริบูรณ์พร
กุมารแพทย์โรคหัวใจ

Privacy Settings