วิสัญญีแพทย์หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปในชื่อ “หมอดมยาสลบ” ความรับผิดชอบหลัก คือการระงับความรู้สึกและระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด เริ่มตั้งแต่เตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัดและติดตาม เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดระหว่างการผ่าตัด รวมไปถึงติดตามดูแลระยะหลังผ่าตัดจนอาการคงที่และปลอดภัย
การระงับความรู้สึกเพื่อรับการผ่าตัดมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
- การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย (GENERAL ANESTHESIA) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า การดมยาสลบ
- การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน (REGIONAL ANESTHESIA) เช่น การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง หรือการบล็อกหลังและการฉีดยาชาเฉพาะที่ร่วมกับการเฝ้าระวังโดยวิสัญญีแพทย์
เมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดและต้องระงับความรู้สึกร่วมด้วย การเลือกวิธีในการระงับความรู้สึกนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดบริเวณของร่างกายที่ทำการผ่าตัด การมีข้อห้ามในการระงับความรู้สึกเพราะโรคประจำตัวหรือยาที่รับประทาน ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะแนะนำวิธีที่จะใช้ระงับความรู้สึกในการเข้ารับการผ่าตัดของผู้ป่วยในแต่ละราย โดยจะแนะนำขั้นตอนให้ทราบบอกข้อดีข้อเสีย และความเสี่ยงของแต่ละวิธีและจะตัดสินใจร่วมกับแพทย์ผ่าตัดและผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด
วิสัญญีแพทย์จะทำหน้าที่ในการวางแผนเกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึกของผู้ป่วย โดยพิจารณาการให้ยาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการผ่าตัดและจะมาพบผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ทำการซักประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว การระงับความรู้สึกที่เคยได้รับ ตรวจร่างกาย ตรวจสอบความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด แจ้งวิธีขั้นตอนและความเสี่ยงของการระงับความรู้สึกให้ผู้ป่วยทราบพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติได้ซักถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อลดความกังวลใจก่อนการเข้ารับการผ่าตัด
หากผู้ป่วยต้องมารับการระงับความรู้สึกเพื่อผ่าตัด จะต้องมีขั้นตอนเตรียมตัวก่อนเข้ารับระงับความรู้สึก ตามนี้
- งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- งดอาหารมื้อหลัก เช่น ข้าวไข่เจียว เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ก่อนการดมยาสลบ
- งดอาหารมื้อเบา เช่น โจ๊ก และเครื่องดื่มที่ผสมนมหรือมีกากใย 6 ชั่วโมงก่อนการดมยาสลบ
- งดนมแม่ 4 ชั่วโมงก่อนการดมยาสลบ
- งดน้ำเปล่าและเครื่องดื่มใส ไม่มีกากใย 2 ชั่วโมงก่อนดมยาสลบ เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าปอดขณะดมยาสลบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจของร่างกายได้
- แจ้งวิสัญญีแพทย์ให้ทราบถึงโรคประจำตัวและยาที่รับประทานประจำ รวมถึงประวัติการแพ้ยาแพ้อาหาร
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด งดแต่งหน้า ไม่ทาเล็บ
- ถอดเครื่องประดับทุกชนิด
- ถอดฟันปลอมและคอนแทคเลนส์ หากมีฟันโยกควรแจ้งวิสัญญีแพทย์
- ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการมารับการดมยาสลบ
เมื่อถึงวันผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการผ่าตัด ทำหน้าที่ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และระดับออกซิเจน ตลอดจนติดตามความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขจนกว่าจะได้รับความปลอดภัยกระทั่งการผ่าตัดเสร็จสิ้น
หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นผู้ป่วยจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังห้องพักฟื้นภายในห้องผ่าตัดอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมงหรือจนอาการคงที่ โดยมีวิสัญญีแพทย์ดูแลตรวจเช็คตามขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย จากนั้นจึงย้ายผู้ป่วยไปยังห้องพัก ซึ่งวิสัญญีแพทย์ยังคงต้องติดตามอาการผู้ป่วยต่ออีกระยะหนึ่งเพื่อให้การช่วยเหลือในการระงับปวดหลังการผ่าตัด
พญ.วิชชุลดา จิรเศวตกุล
วิสัญญีแพทย์