วัคซีนตัวไหน ปลอดภัยในสตรีตั้งครรภ์

วัคซีนที่ปลอดภัยในสตรีตั้งครรภ์

การให้วัคซีนเป็นการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อสำหรับสตรีตั้งครรภ์ การให้วัคซีนถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์มีภูมิคุ้มกันต่ำลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้วัคซีนยังมีประโยชน์ต่อทารกที่ได้รับภูมิคุ้มกันที่มารดาสร้างขึ้นและส่งผ่านทางรก ทำให้ได้รับการปกป้องไปจนถึงช่วงหลังคลอด ก่อนที่ทารกจะได้รับวัคซีนตามช่วงวัย

แต่วัคซีนที่จะให้ในสตรีตั้งครรภ์ ต้องมีความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ดังนั้นควรได้รับคำแนะนำการได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูงสุด

วัคซีนที่ควรให้ในสตรีตั้งครรภ์

มีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่สตรีตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย การติดเชื้อส่งผลเสียต่อมารดาหรือทารก และวัคซีนต้องไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ จึงควรเลือกใช้วัคซีนอย่างเหมาะสมสำหรับวัคซีนที่ไม่สามารถให้ได้ในขณะตั้งครรภ์ หรือวัคซีนที่ยังไม่ได้ให้ในสตรีตั้งครรภ์รายนั้นๆ ควรจะถูกบันทึกและวางแผนที่จะให้ในช่วงหลังคลอดต่อไป

ชนิดของวัคซีนที่ปลอดภัย ไม่พบหลักฐานว่าส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ คือ

  • วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine)
  • วัคซีนชนิดท็อกซอยด์ (toxoid)
  • อิมมูโกลบูลิน (immunoglobulin)

ได้แก่ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (tetanus, diphtheria, and pertussis vaccine: Tdap) และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (inactivated influenza vaccine) เป็นวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับและแนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์ทุกราย

เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ ไม่ก่อให้เกิดการแท้งบุตร และภูมิคุ้มกันที่สตรีตั้งครรภ์สร้างจากการได้รับวัคซีนเหล่านี้สามารถส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ และช่วยปกป้องทารกในช่วงหลังคลอดได้อีกด้วย

1. วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (tetanus, diphtheria, and pertussis vaccine: Tdap)

ทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงจากไอกรน และร้อยละ 50 ทารกจะได้รับเชื้อมาจากผู้ดูแลในครอบครัว ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้มารดาระหว่างตั้งครรภ์ และการที่สมาชิกในครอบครัวมีภูมิคุ้มกันต่อไอกรนจะลดความเสี่ยงการติดเชื้อในทารกลงได้

นอกจากนี้การฉีดวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 จะกระตุ้นให้สร้างและส่งต่อภูมิคุ้มกันที่สามารถปกป้องทารกในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอดได้ เนื่องจากทารกจะได้รับวัคซีนเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ ในช่วงก่อนที่ทารกจะได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันจะมาจากมารดาส่งผ่านรกในขณะตั้งครรภ์และผ่านน้ำนมในช่วงหลังคลอดเท่านั้น ไม่มีรายงานผลเสียของวัคซีน Tdap ต่อการตั้งครรภ์ ต่อสตรีตั้งครรภ์ และต่อทารก จึงมีความปลอดภัยสูงที่จะใช้ระหว่างตั้งครรภ์

2. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (inactivated influenza vaccine)

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะให้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันทั้งสตรีตั้งครรภ์และทารก ดังนั้นจึงควรให้ในช่วงที่มีการระบาดของโรค โดยไม่คำนึงถึงอายุครรภ์ หากสตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ แต่หากการได้รับวัคซีนสามารถเลื่อนออกไปได้ เช่น การระบาดอยู่ในวงจำกัด ไม่รุนแรง สามารถพิจารณาเลื่อนไปฉีดวัคซีนที่ไตรมาส 2 ได้ เพื่อลดความกังวลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาสแรกได้ตามธรรมชาติ เช่น ภาวะแท้ง ทารกที่ผิดปกติ

การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นี้หวังประโยชน์เพื่อป้องกันการติดเชื้อในสตรีตั้งครรภ์เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันสามารถส่งไปถึงทารกได้มากถึงร้อยละ 85 ของทารกที่มารดาได้รับวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์

บทสรุป

สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับการซักประวัติการได้รับวัคซีน เพื่อประเมินความเสี่ยงและวัคซีนที่ควรให้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยวัคซีนที่สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับคือวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) ในช่วงต้นของไตรมาส 3 และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (inactivated influenza vaccine) ในช่วงที่มีการระบาดของโรค

สำหรับวัคซีนอื่นๆ พิจารณาให้โดยประเมินจากความเสี่ยงของสตรีตั้งครรภ์แต่ละราย และควรหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine) และวัคซีนที่ยังมีการศึกษาไม่เพียงพอหากประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์

 

พญ.อุทุมพร ภูนุชอภัย
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

 

Privacy Settings