เมื่อสงสัยว่าลูกแพ้นมวัว จะปฏิบัติตัวอย่างไร

ลูกแพ้นมวัว

การแพ้นมวัว มักเกิดในเด็กเล็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน และระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้โปรตีนในนมวัวทำปฏิกิริยากับร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้แตกต่างกันออกไป

อาการแพ้โปรตีนนมวัวแบ่งตามระบบดังนี้

  • ผิวหนัง : ลมพิษ ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
  • ระบบทางเดินหายใจ : น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง คัดจมูก นอนกรน หายใจเสียงหวี๊ด หอบ ต่อมอดีนอยด์โต
  • ระบบทางเดินอาหาร : ริมฝีปากบวม อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูกเลือด
  • แพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)

การวินิจฉัยการแพ้นมวัว

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin Prick Test)
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ที่จำเพาะต่อโปรตีนนมวัว (specific IgE)
  • ทดสอบการแพ้ด้วยการทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge) การทดสอบด้วยวิธีนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจลองทานเองที่บ้านได้ หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอนุญาต
     

นมที่ใช้รักษาผู้ที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว

  1. Soy protein-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง) แนะนำให้ใช้สำหรับรักษาภาวะแพ้โปรตีนนมวัวที่มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของภาวะแพ้อาหารแบบเฉียบพลันแบบไม่รุนแรง ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการไม่รุนแรง และแนะนำให้ใช้ในทารกอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
     
  2. Extensively hydrolyzed formula (อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์สายสั้น) เป็นโปรตีนผ่านกระบวนการย่อยโดยใช้เอนไซม์ ความร้อนเพื่อให้แตกตัวเป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ การย่อยโปรตีนเป็นเปปไทด์สายสั้น จะมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการแพ้ลดลง
     
  3. Amino acid-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรกรดอะมิโน) สูตรนมชนิดนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยนมสูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก
     
  4. Modular formula (MF, อาหารทางการแพทย์สูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย) เช่น นมสูตรโปรตีนจากเนื้อไก่ หรือนมข้าวอะมิโน
     

ทางเลือกอื่น ๆ สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่แพ้นมวัว

  • นมจากถั่วเหลือง (Soy milk) สามารถใช้เป็นทางเลือกหากแพ้นมวัว ที่มีอายุมากกว่า1ปี แต่ไม่แพ้ถั่วเหลือง โดยให้เลือกนมถั่วเหลืองที่มีการเสริมแคลเซียม และน้ำตาลต่ำ
     
  • นมจากอัลมอนด์ (Almond milk) ให้พลังงานที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนมวัวหรือนมถั่วเหลืองในปริมาณที่เท่ากัน อุดมไปด้วยไขมันที่ดี และวิตามินอี แต่มีปริมาณโปรตีน และ แคลเซียมน้อย
     
  • นมข้าวโพด (Corn milk) และนมจากข้าว (Rice milk) ปริมาณโปรตีนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนมวัว และเหมาะกับผู้บริโภคที่มีประวัติการแพ้ถั่ว หรืออัลมอนด์

การป้องกันโรคแพ้นมวัว
ในกรณีเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่ หรือทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีพี่เป็นโรคภูแพ้ควรปฏิบัติดังนี้

  • ดื่มนมแม่อย่างเดียว ในช่วง 4- 6เดือนแรก
     
  • หลีกเลี่ยงอาหารเสริมใด ๆ ในช่วง 4 - 6 เดือนแรก ควรเริ่มให้อาหารเสริมแก่เด็กครั้งละ 1 ชนิด และค่อย ๆ เพิ่มชนิดของอาหารเสริมทุก ๆ 3-5 วัน หากไม่มีอาการแพ้ โดยอาจเริ่มอาหารเสริมที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้น้อยเป็นลำดับแรก เช่น อาจให้เริ่มรับประทานไข่แดงก่อนไข่ขาว หรือเริ่มรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่ ก่อนอาหารทะเล
     
  • ไม่แนะนำให้คุณแม่งดรับประทานอาหารชนิดใด ๆ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมเด็ก ยกเว้นกรณีที่คุณแม่หรือเด็กมีประวัติการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว
     
  • คุณแม่ควรรับประทานอาหาร5หมู่อย่างสมดุล

 

 

โดย พญ.ศศิกานต์ ซื่อศิริสวัสดิ์
ชำนาญพิเศษ: กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
เฉพาะทาง: กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (Pediatric Allergy and Immunology)

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดหมายได้ที่ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
โทร:043-042717

Privacy Settings