ริดสีดวงทวาร หมายถึง การมีกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่ และที่ขอบรูทวารหนักโป่งพองและยื่นออกมา
ชนิดของริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายใน หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไป ตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน
- ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายนอก หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนังจึงอาจเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก
สาเหตุริดสีดวงทวาร
- ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา
- อาชีพ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนนานๆ จะมีผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง โดยทั่วไปหลอดเลือดดำมีลิ้นเพื่อให้เลือดดำไหลกลับได้ทางเดียวแต่เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูงจึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนักส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรค
- เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคตับแข็งหรือโรคตับอักเสบไวรัสบี ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมากๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้องเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก
อาการริดสีดวงทวาร
- ระยะที่ 1 มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย ถ้าท้องผูกเลือดจะออกมากยิ่งขึ้น
- ระยะที่ 2 อาการมากขึ้น หัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้นเริ่มโผล่ออกมาพ้นทวารหนักแล้วพอควร เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็นมากขึ้น แต่เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง
- ระยะที่ 3 อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นเวลาถ่ายอุจจาระหัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาจาม ไอ ยกสิ่งของหนักๆ ที่ความเกร็ง เบ่งในท้องเกิดขึ้น หัวริดสีดวงทวารจะออกมาข้างนอกทวารหนักแล้วก็กลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือดันๆ เข้าไปถึงจะเข้าไปอยู่ภายในทวารหนักได้
- ระยะที่ 4 ริดสีดวงกำเริบมาก โตมากขึ้น มองเห็นได้จากภายนอกอย่างชัดเจน เกิดอาการบวม อักเสบ อาการแทรกซ้อน รุนแรงมาก มีเลือดออกมาเสมอ อาจมีน้ำเหลือง เมือกลื่น และอุจจาระก็ยังตามออกมาอีกด้วยทำให้เกิดความสกปรกและมีอาการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการคันร่วมด้วย บางทีอาจเน่าและอักเสบมากยิ่งขึ้น การติดเชื้อโรคเป็นไปได้ง่าย และเมื่อเลือดออกมาเรื่อยๆ จะเกิดอาการซีด มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงจะเกิดอาการหน้ามืด
ตรวจวินิจฉัยริดสีดวงทวาร
ผู้ป่วยส่วนมากจะมีเลือดสดออกทางทวารหนักระหว่างที่ถ่ายอุจจาระ สามารถสังเกตได้จากการมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระ หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกมาเป็นหยด ทั้งนี้อาจจะมีอาการเจ็บทวารหนักหรือไม่ก็ได้ ถ้าเกิดอาการอักเสบหรือหัวยื่นออกมาข้างนอก อาจรู้สึกเจ็บรุนแรงจนทำให้ยืน นั่ง หรือเดินไม่สะดวก และอาจคลำพบก้อนเนื้อที่เป็นหัวบริเวณปากทวารหนักในรายที่เป็นเรื้อรังหรือมีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดจากการเสียเลือดได้
รักษาริดสีดวงทวาร
- ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมากๆ และกินผักผลไม้มากๆ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใย
- ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัดๆ วันละ 2 - 3 ครั้งๆ ละ 15 - 30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทาปกติใช้เวลาประมาณ 7 - 10 วัน
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด พิจารณาให้ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก
- ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกข้างนอกให้ใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่นแล้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าไม่ได้ผลแนะนำให้ไปโรงพยาบาล
- ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อย หรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจด้วยเครื่องส่องตรวจทวารหนักถ้าหากสงสัยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่
- ถ้าเป็นมากอาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การฉีดยาเข้าที่หัวให้ฝ่อไป วิธีนี้สะดวก ไม่เจ็บปวด มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 3 – 5 ครั้ง ช่วยให้หายขาดได้ร้อยละ 60
- ใช้ยางรัด ทำให้หัวฝ่อ
- ใช้แสงเลเซอร์รักษา
- รักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก แต่ละระยะ
การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น โดยสามารถแยกความรุนแรงของโรคได้เป็นระยะต่างกันคือ
- ระยะที่ 1 รักษาโดยการรับประทานยาระบายอ่อนๆ ยาลดการบวมของกลุ่มหลอดเลือด และระวังไม่ให้ท้องผูกก็เพียงพอแล้ว
- ระยะที่ 2 รักษาได้หลายวิธีเช่น - ใช้ยาเหมือนการรักษาในระยะที่ 1 แล้วระวังไม่ให้ท้องผูก ก็มีอาการดีขึ้นได้ แต่ก็อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ ในบางราย - ใช้ยางรัดหัวริดสีดวงทวารที่อยู่ภายใน หรือใช้ยาฉีดที่บริเวณหัวริดสีดวงทวาร วัตถุประสงค์เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อลงไป
- ระยะที่ 3 และ 4 รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดรักษามี 2 วิธีคือ
- การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบเดิม
- การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (STAPLE HEMORHOIDECTOMY)
เตรียมเพื่อการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- ทำความสะอาดโดยการโกนขนบริเวณหน้าท้องส่วนล่างบริเวณหัวหน่าวและรอบรูทวารหนักและสวนล้างลำไส้เพื่อความสะอาดในคืนก่อนวันผ่าตัด
- ผู้ป่วยควรอาบน้ำ สระผม ตัดเล็บให้สั้นในคืนก่อนวันผ่าตัด
- งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนวันผ่าตัด
- พักผ่อนให้เต็มที่ในคืนก่อนวันผ่าตัดอาจจะได้รับยาเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลและได้พักผ่อน
- ขณะทำการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพราะแพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกช่วงท่อนล่างของร่างกายโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง
ปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- หลังผ่าตัดใหม่ๆ จะรู้สึกชาที่ขา ก้น และสะโพก เนื่องจากฤทธิ์ยาชายังตกค้างอยู่
- ท่านอนหลังผ่าตัด ควรนอนในท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อลดการกดทับและบรรเทาอาการปวดแผล ในรายที่ฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังควรนอนราบอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาชาเฉพาะที่
- สามารถเริ่มรับประทานอาหารได้ตามปกติ
- การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น จะเริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด โดยใช้น้ำอุ่นใส่ในอ่างที่มีขนาดของปากอ่างพอดีกับก้นเพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดกดทับกับก้นอ่างและแผลได้สัมผัสกับน้ำได้เต็มที่
- หากมีอาการปวดหลังผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบ
แหล่งที่มา: