ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก หมั่นสังเกต รักษาก่อนสาย

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก หมั่นสังเกต รักษาก่อนสาย

สุขภาพการนอนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเด็กมีปัญหาด้านการนอน ย่อมส่งผลกระทบถึงพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ ทั้งการเรียนรู้ อารมณ์ สติปัญญา โดยเฉพาะปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

จากการศึกษาพบว่า อัตราการเกิดโรคนี้พบได้ประมาณ 1-5% ของประชากร ในขณะที่อัตราการนอนกรนชนิดไม่หยุดหายใจอยู่ที่ประมาณ 4-12% พบได้บ่อยในช่วงอายุ 2-6 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็กและมักจะมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยๆ ดังนั้นหากลูกมีอาการนอนกรน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด

ทำความรู้จักโรค

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก คือ ภาวะการหายใจลดลงหรือหยุดหายใจขณะหลับ มีผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น หรือตื่นจากการนอนหลับ มีผลกระทบต่อคุณภาพการนอน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ สมาธิ และการเรียนรู้ตามมา

ประเภทของโรค

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ

  1. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน
  2. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ

สาเหตุบอกโรค

ในที่นี้จะกล่าวถึงสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกว่า ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในเด็กมักเกิดจาก

  • ต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต เนื่องจากมีการอักเสบซ้ำๆ เช่น จากการเป็นหวัดบ่อยๆ
  • โรคอ้วน
  • อื่นๆ เช่น มีโครงสร้างทางเดินหายใจผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือผู้ที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อที่คอยพยุงทางเดินหายใจด้วยเช่นกัน

อาการที่สังเกตได้

เริ่มแรกเด็กมักแสดงอาการให้เห็นในขณะหลับ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมักจะนอนกรนในลักษณะดังนี้

  • นอนกรนเกิดขึ้นเป็นบางช่วงของการหลับ
  • นอนกรนไม่ตลอดทั้งคืนในช่วงแรก
  • กรนเป็นประจำ แต่อาจไม่ถึงกับทุกคืน

อาการอื่นๆ ที่มักพบร่วมด้วย

  • นอนอ้าปากหายใจ
  • หายใจเสียงดัง
  • หายใจสะดุดหรือหยุดหายใจ
  • ไอหรือสำลักขณะหลับ
  • นอนกระสับกระส่ายขยับไปมา
  • เหงื่อออกมากขณะหลับ
  • บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ
  • สมาธิสั้น
  • มีความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม

ในเด็กบางคนอาจไม่กรน แต่ถ้ามีอาการอย่างอื่นที่กล่าวมานี้ก็ต้องระวัง ที่สำคัญในเวลากลางวัน อาการในเด็กมักไม่ค่อยชัดเจน เด็กบางคนมีอาการง่วงนอน หลับในที่โรงเรียน และปวดศีรษะตอนเช้า

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะส่งผลให้

  • การเจริญเติบโตต่ำกว่าปกติ เนื่องจากต้องใช้พลังงานมากขณะหายใจเวลานอนและการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตลดลง
  • ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น สมาธิสั้น มีพฤติกรรมรุนแรง ซนมาก ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้ ไม่เชื่อฟัง มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้

นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา หากปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ ความดันเลือดในปอดสูง ความดันโลหิตสูงได้

การวินิจฉัยโรค

  1. ซักประวัติ ตรวจร่างกาย
  2. การตรวจเพิ่มเติมที่ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ การทดสอบนอนหลับข้ามคืน ซึ่งจะให้ข้อมูลในรายละเอียดว่า อาการที่เป็นอยู่นี้ผิดปกติหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด จำเป็นต้องรับการรักษาหรือสามารถเฝ้าระวังต่อได้ ต้องเฝ้าระวังติดตามอาการหลังการรักษามากน้อยเพียงใด
  3. การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การเอกซเรย์ต่อมอะดีนอยด์ การตรวจคลื่นหัวใจหรืออัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram)

นอกจากนี้ยังมีการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจการนอนหลับด้วยอุปกรณ์เองที่บ้าน การวัดระดับออกซิเจนและชีพจรขณะหลับ การบันทึกเทปทั้งภาพและเสียง ซึ่งมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบได้  จึงควรตัดสินใจด้วยความระมัดระวังเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องชัดเจน

วิธีการรักษา

  • การรักษาดูแลที่ต้นเหตุ ในเด็กส่วนใหญ่ที่สาเหตุมักเกิดจากต่อมอะดีนอยด์และทอนซิลโต สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดออกโดยแพทย์หู คอ จมูก ซึ่งในการพิจารณาให้การรักษา แพทย์จะพิจารณาในหลายด้าน เช่น ความรุนแรงของโรค ความเสี่ยงต่อการผ่าตัด และความผิดปกติอื่นๆ ที่มีร่วมด้วย
    จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดให้ผลการรักษาดีกว่าการเฝ้าติดตามเฉยๆ ทั้งในแง่ของคุณภาพการนอน พฤติกรรม และอารมณ์ การทำงานบางอย่างของสมองดีขึ้น เช่น การใช้เหตุผล สมาธิ การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ มักใช้ในกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้ ไม่มีต่อมอะดีนอยด์หรือทอนซิลโต หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีอาการอยู่ เช่น ในผู้ป่วยที่อ้วนมาก
  • การเฝ้าระวังติดตามอาการ อาจพิจารณาใช้ในคนที่มีอาการไม่รุนแรง จะต้องมีการเฝ้าติดตามอาการ ประเมินการนอนหลับซ้ำทุก 6 เดือนหรือบ่อยกว่าถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น
  • การรักษาเพิ่มเติม เช่น ลดน้ำหนัก การขยายกรามบน การใช้ยาเพื่อยุบต่อมอะดีนอยด์โต การผ่าตัดอื่น ๆ ตามสภาวะผู้ป่วยแต่ละราย
  • การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ มลภาวะ และสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้
  • การจัดท่าเวลานอน
  • การใส่อุปกรณ์ที่จมูก เพื่อช่วยเพิ่มความดันในทางเดินหายใจ

โอกาสหายจากโรคและการกลับมาเป็นซ้ำ

ส่วนใหญ่ถ้าไม่มีความผิดปกติอื่นของร่างกาย ภายหลังการผ่าตัดมักจะหาย ผู้ที่มีแนวโน้มจะไม่หายหลังการผ่าตัด ได้แก่

  1. มีโรคอ้วน
  2. ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรง
  3. ผู้ที่มีโรคบางอย่างร่วมอยู่ด้วย เช่น มีความผิดปกติของโครงสร้างทางเดินหายใจ ผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม

ปกติแล้วหลังการผ่าตัดควรมีการติดตามอาการเป็นระยะเพื่อดูว่าอาการหายไปหรือไม่ กลับมาเป็นใหม่หรือไม่ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจทดสอบนอนหลับซ้ำหลังให้การรักษาในผู้ป่วยบางราย และในผู้ป่วยทุกรายที่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมา ถึงแม้จะไม่มีอาการหลงเหลือก็ตาม

ผู้ที่หายแล้วอาจมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์สามารถโตกลับมาได้ ส่วนต่อมทอนซิลมักจะสามารถเอาออกได้หมด เนื่องจากมีแคปซูลหุ้ม

ตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ออกลูกจะติดเชื้อง่ายหรือไม่

เมื่อตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ออก โอกาสในการติดเชื้อคือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ซึ่งต่อมทอนซิลจะมีหน้าที่ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ แต่การตัดออกไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากยังมีอวัยวะส่วนอื่นในร่างกายทำหน้าที่ช่วยต่อสู้หรือป้องกันการติดเชื้ออยู่ ในทางตรงกันข้ามเด็กที่ได้รับการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกจะมีการติดเชื้อในคอลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings