โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้

โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้

จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 2 ของอัตราการเสียชีวิตของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง แม้โรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมาก เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัย แต่คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ทั้งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแต่กำเนิด อุบัติเหตุ การใช้คอเยอะจนเกิดการฉีดขาดของหลอดเลือด เป็นต้น เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทัน ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และดูแลรักษาอย่างถูกต้อง คือสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจให้ความสำคัญและดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด

รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ

สมองเสียหายมากกว่าที่คิด

หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้

สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย
ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง
สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่วางแผน
เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง

ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย

ต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

ไม่เพียงแต่ผู้สูงวัย แม้แต่วัยรุ่นก็อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยโรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลักๆ โดย 80% เกิดจาก

  1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ถึง 80% เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
  2. หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต สาเหตุอื่นๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จัมป์ หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือช่วงน้ำท่วมมีอาสาสมัครช่วยแบกกระสอบที่คอแล้วอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้อาการของหลอดเลือดสมองยังมีหลอดเลือดดำอุดตันด้วย เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน
  3. เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง

อาการของโรค

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • สูญเสียการควบคุมอวัยวะบางส่วนจากอาการอ่อนแรงหรืออัมพาต โดยเฉพาะที่แขนและขาด้านใดด้านหนึ่ง
  • การพูดและการมองเห็นไม่ปกติ เช่น กลืนลำบาก ทรงตัวไม่ค่อยได้
  • มีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในกรณีที่เป็นรุนแรง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรค

  • หลอดเลือดแดงแข็งจากคราบไขมัน เลือดข้น มีระดับเม็ดเลือดแดงสูง
  • อ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • สูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูงม, เบาหวาน
  • อายุมาก
  • การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • เชื้อชาติ (แอฟริกัน-อเมริกัน มีความเสี่ยงสูง)
  • เพศ (เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่า)
  • ประวัติครอบครัวมีโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ทำกิจกรรมที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาด เช่น บันจี้จัมป์

MAGIC NUMBER 4.5

มาตรฐานเวลาหรือ Magic Number คือ ตัวเลขสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

  1. ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ ถ้าผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในช่วงเวลานี้นับตั้งแต่สังเกตเห็นอาการ เบื้องต้นแพทย์จะทำ MRI เอกซเรย์สนามแม่เหล็กตรวจดูความเสียหายของเนื้อสมองและหลอดเลือดที่อุดตันว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ในคนไข้รายที่มีภาวะสมองขาดเลือดและไม่พบภาวะเลือดออกในสมองจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน
  2. สำหรับรายที่มาช้าเกิน 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และวินิจฉัยว่าเซลล์สมองยังไม่ตายจากการอุดตันของลิ่มเลือดขนาดใหญ่ การให้ยาละลายลิ่มเลือดอาจไม่ทำให้อาการดีขึ้น ต้องอาศัยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง แพทย์รังสีร่วมรักษาจะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อพิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมที่จะรักษาด้วยการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่

วิธีการรักษา

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการ ได้แก่

  • การถ่างขยายหลอดเลือด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่บริเวณขาแล้วถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนที่ทำหน้าที่เหมือนการขูดตระกรันในท่อน้ำ หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เหมือนตะแกรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น
  • การผ่าตัด การผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimal Invasive โดยใส่สายสวนที่ขาหนีบเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน โดยมี Biplane DSA (Biplane Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้แพทย์ใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว หากลิ่มเลือดมีขนาดเล็กสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพื่อละลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง หรือหากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดเลี้ยงสมองได้ทันเวลา นอกจากช่วยลดสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด
  • การใช้ยา ได้แก่
    • ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ลดความหนืดของเลือดและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
    • ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets) ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด
    • ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) อาจป้องกันการทำลายระบบประสาทที่เกิดหลังจากเลือดออกใต้กะโหลกศีรษะ (Subarachnoid Hemorrhage)
    • ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบพลัน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูงควรได้รับการรักษาควบคู่ไปกับโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาที่เหมาะสม

ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่อยู่ใน ICU หรือระยะเฉียบพลัน (Early Rehabilitation) จะช่วยให้การฟื้นตัวทางด้านสมองและกำลังกล้ามเนื้อเร็วขึ้น และยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนบนเตียงนานๆ เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางปอด โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น การฟื้นตัวที่ดีจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างคนไข้ ญาติหรือผู้ดูแล ทีมแพทย์ และทีม Stroke Coordinator เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกและเรียนรู้ทักษะบางอย่างใหม่ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

  1. กายภาพบำบัด (Physical Therapy) ฝึกกำลังแขนขา การทรงตัว การเคลื่อนไหว การเดิน
  2. กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อการใช้งานของแขนและมือ ฝึกกลืน ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ฝึกทำกิจวัตรประจำวัน
  3. อรรถบำบัด (Speech Therapy) ฝึกการพูด การหายใจ
  4. ฟื้นฟูกระบวนการรับรู้ ความคิด และความจำ (Cognitive Function)
  5. ฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าและปัญหาด้านสภาพจิตใจ (Depression and Psychosocial)

ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป บางคนเป็นผู้ป่วยสูงอายุหรืออาจมีโรคประจำตัวที่ไม่เหมือนกัน แพทย์จะพิจารณาการรักษาในคนไข้แต่ละรายไป

ตรวจเช็กการไหลเวียนหลอดเลือดในสมอง

การตรวจดูการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดสมองช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและติดตามความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้อย่างทันท่วงที ได้แก่

  • การตรวจ Transcranial Doppler Ultrasound: TCD เป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดภายในหลอดเลือดแดงในสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านกะโหลกศีรษะไปยังหลอดเลือดแดงในสมองเพื่อตรวจจับสิ่งอุดตัน อาทิ ลิ่มเลือด ไขมัน ฯลฯ โดยเมื่อสัญญาณ TCD ตกกระทบกับสิ่งอุดตันหลอดเลือดจะเกิดเสียงในช่วงคลื่นความถี่จำเพาะพร้อมแสดงผลมาที่หน้าจอ ประมวลผลออกมาเป็นกราฟ หากจำนวนตัวเลขมากแสดงว่าจำนวนสิ่งอุดตันหลอดเลือดที่กำลังไหลเวียนในหลอดเลือดสมองมีจำนวนมาก มีโอกาสที่จะไปอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน เกิดความพิการหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ถ้าจำนวนตัวเลขน้อยแสดงว่ามีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่า
  • การตรวจ Carotid Duplex Ultrasound เป็นการตรวจหลอดเลือดแดงที่คอทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูหลอดเลือดใหญ่ Carotid (หลอดเลือดแดงด้านหน้า) และหลอดเลือด Vertebral (หลอดเลือดแดงด้านหลัง) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ดูคราบหินปูนหรือคราบไขมัน (Plaque) ที่เกาะภายในหลอดเลือด โดยสามารถวัดความหนาของผนังหลอดเลือด วัดความเร็วของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด โดยแสดงผลออกมาเป็นกราฟ หากพบว่ามีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดคอ มีคราบหินปูนเกาะจนหลอดเลือดคอตีบแคบ อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ รุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตได้

เพราะโรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบกับร่างกายและการใช้ชีวิต นอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือสิ่งสำคัญ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลมุ่งมั่นคัดสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัย พัฒนาองค์ความรู้ในการรักษา พร้อมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มุ่งมั่นสร้างรูปแบบการรักษาที่เชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings