ปวดหลังเรื้อรัง อาจเป็นโรคข้อรูมาติสซั่ม

อาจเป็นโรคข้อรูมาติสซั่ม

หากมีอาการปวดหลังแล้วรักษาหายคงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่หากปวดหลังเรื้อรังนานหลายเดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะอาจเป็นการปวดหลังจากข้อรูมาติสซั่ม หรือมีชื่อโรคว่าข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ซึ่งสัมพันธ์กับการอักเสบของกระดูกสันหลังจนเกิดการติดยึด ทำให้เกิดการปวดที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ในระยะยาว จำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วที่สุด ซึ่งอาการหลายๆ แบบที่เกิดขึ้นหลังจากการนั่งโต๊ะทำงานนานๆ ทำให้หลายๆ คนคิดว่าเป็นจากออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หารู้ไม่ว่าอาจมีโรคไขข้อและรูมาติสซั่มซ่อนอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดหลังปวดคอหลังจากนั่งนานๆ อยู่เฉยๆ นานๆ แล้วรู้สึกเหมือนหลังโดนยึดหรือขัดๆ ในหลังหรือคอ พอลุกมาเดินหรือขยับตัวแล้วรู้สึกสบายขึ้น ยิ่งน่าคิดถึงโรครูมาติสซั่มที่ชื่อว่าโรคเอ็นยึดข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด

ข้อกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด

โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis – AS หรือ Spondyloarthritis – SpA) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของกระดูกสันหลังเรื้อรังร่วมกับข้ออักเสบและอาการนอกระบบข้อร่วมด้วย เมื่อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นเวลานานจะเกิดหินปูนจับ ทำให้กระดูกสันหลังเชื่อมติดกันจนเคลื่อนไหวไม่ได้ และในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีการอักเสบของข้ออื่นๆ ร่วมด้วย ทำให้ข้อติดแข็ง เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาแดง มองเห็นไม่ชัด โรคผิวหนังสะเก็ดเงิน อาการปวดส้นเท้า ฯลฯ

สาเหตุของโรค

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด มีการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยบางรายมีความเกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรม HLA B27 ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็ต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การติดเชื้อหรือได้รับสารเคมีบางอย่าง เป็นต้น โดยพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักเป็นตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

อาการบอกโรค

อาการข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ได้แก่

  • ปวดหลังหรือหลังติดขัดเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป โดยไม่มีประวัติการได้รับอุบัติเหตุหลังหรือกล้ามเนื้อหลังทำงานมากกว่าปกติ
  • ปวดหลังหรือหลังตึงขัดมากในช่วงกลางคืน ขณะหลับ และหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • ปวดหลังหรือหลังตึงขัดหลังหยุดเคลื่อนไหวมานาน
  • ปวดข้อและข้ออักเสบร่วมด้วย มักพบบริเวณส่วนล่าง เช่น สะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ฯลฯ
  • อาการอื่นๆ นอกจากระบบข้อ เช่น เหนื่อยง่าย ตาแดง ปวดตา แผลที่ปาก ผื่นผิวหนัง เบื่ออาหาร ฯลฯ

ตรวจวินิจฉัยโรค

การตรวจวินิจฉัยโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดสามารถทำได้โดย

  • ซักประวัติ โดยแพทย์จะถามรายละเอียดการปวด ระยะเวลา ความรุนแรง ประวัติทางการแพทย์
  • ตรวจร่างกาย ด้วยการก้มหรือโน้มตัวเพื่อทดสอบการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง รวมถึงการกดส่วนต่างๆ และการขยับขาท่าต่างๆ เพื่อทดสอบระดับความเจ็บปวด
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการอักเสบและตรวจหายีน HLA B27 ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค
  • การเอกซเรย์ (X – Ray) เพื่อดูตำแหน่ง การอักเสบ การเชื่อมติดกัน และการสึกหรอของกระดูกสันหลัง
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) ใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กพลังงานสูงถ่ายภาพกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนด้วยความคมชัดสูง เพื่อช่วยวินิจฉัย วางแผนรักษา และติดตามผลอย่างละเอียดและถูกต้อง

รักษาข้อกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด

ปัจจุบันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการ ลดการอักเสบ ป้องกันความรุนแรงและความพิการที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการรักษาประกอบไปด้วย

  • การรักษาด้วยยา ในกลุ่มยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาในกลุ่มต้านรูมาติสซั่มที่ควบคุมอาการของโรค รวมถึงยาอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร โดยต้องระวังผลข้างเคียงของยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • การทำกายภาพบำบัด ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสม ได้แก่ การยืด การนวด การดึง การขยับข้อต่อ การบริหารร่างกาย การใช้ความร้อนและความเย็นบรรเทาปวด
  • การผ่าตัด จะใช้ต่อเมื่อข้อถูกทำลายมากหรือข้อติดอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้ใช้งานข้อได้ไม่เต็มที่ การผ่าตัดจะช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวและใช้งานข้อได้ในชีวิตประจำวัน
  • การปรับพฤติกรรม ได้แก่ เลี่ยงการนอนหนุนหมอนสูง เลี่ยงท่าทำงานก้มตัวตลอดเวลา เดินและนั่งในท่าตรง นอนบนพื้นราบให้หลังตรง เป็นต้น
  • การรักษาอื่นๆ ในกรณีที่มีปัญหาในระบบอวัยวะอื่นๆ เช่น ม่านตาอักเสบจะต้องพบจักษุแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลิ้นหัวใจรั่วต้องพบอายุรแพทย์หัวใจเพื่อดูแลรักษาทันท่วงที

ปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะการปวดหลังจากข้อรูมาติสซั่มหรือโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด เพราะหากรักษาช้าเกินไป ข้ออาจถูกทำลายรุนแรงและพิการได้

แบบประเมินการกำเริบของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบติดยึด ของ BASDAI

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings