1) ข้อสะโพกเสื่อมก่อนวัย
หลายคนเข้าใจว่าโรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นโรคของคนสูงอายุเท่านั้น แต่ในความจริงคนหนุ่มสาวอายุน้อยก็เป็นได้ สาเหตุสำคัญเกิดจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์นานต่อเนื่อง จนทำให้เลือดหนืดไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพก ทำให้หัวกระดูกสะโพกตาย นอกจากนี้ยังเกิดจากได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุทำให้กระดูกสะโพกหัก บ้างเกิดจากโรคภูมิแพ้ SLE โรคไต หูดับ รูมาตอยด์ สัญญาณเตือนคือ ปวดง่ามขาด้านหน้า เจ็บแปล๊บที่ข้อสะโพกขณะเดินหรือวิ่ง ปวดสะโพกหรือเข่า หรืออาจปวดเข่าด้านในโดยไม่รู้สึกปวดสะโพกเลย เจ็บเวลาลงน้ำหนักและเวลาบิดสะโพก จนเดินกะเผลก หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้ปวดหลังได้ ปัจจุบันมีเทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อเจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดความเสี่ยงข้อสะโพกหลุดหรือขาสั้นยาวไม่เท่ากัน
2) ปวดประจำเดือน สัญญาณเตือนโรคร้าย
ซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ โรคพังผืดชั้นกล้ามเนื้อมดลูก โรคเนื้องอกมดลูกหลายชนิด ล้วนแต่มีอาการปวดท้องนำทั้งสิ้น บางคนปวดไม่มากแค่พอรู้สึกหน่วง บางคนปวดมากจนต้องหยุดงานทานยาแก้ปวด หรือมีประจำเดือนมากจนอ่อนเพลียเหนื่อยง่ายและมีภาวะซีดร่วมด้วย บางคนปวดท้องเฉียบพลัน มีปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือดต้องรีบพบแพทย์ การป้องกันก่อนเกิดโรค พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตและจดบันทึกลักษณะสี อาการปวด การมาของประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ หากมีเนื้องอกหรือช็อกโกแลตซีสต์ แพทย์จะใช้ยาหรือผ่าตัดส่องกล้อง 3 มิติผ่านทางหน้าท้อง วิธีนี้เจ็บน้อย แผลขนาดเล็ก ฟื้นตัวเร็ว หมดกังวลเรื่องรอยแผลเป็นยาวๆ
3) บังอรเอาแต่นอน
เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า ตื่นยากมาก นอนกลางคืนเยอะมาก แต่ยังรู้สึกขี้เกียจ อยากงีบหลับทั้งวัน นอนเท่าไรก็ไม่พอ ตื่นมาไม่สดชื่น หงุดหงิดง่าย ความจำไม่ดี ความคิดอ่านไม่แล่น บางครั้งสามารถหลับในขณะขับรถ พูดคุย ทานอาหาร หากคุณมีอาการแบบนี้นั่นเป็นความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น ควรรับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านการนอนเพื่อหาสาเหตุของอาการง่วงผิดปกติ ปัจจุบันมีการตรวจการนอนหลับ Sleep Lab เพื่อหาสาเหตุที่อาจจะเกิดจากทางสมอง (Central Origin of Hypersomnolence) อันได้แก่ โรคลมหลับ โรคนอนมากผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ โรคหยุดหายใจแบบกรนไม่ชัด
4) สวมส้นสูงเสี่ยงเข่าและหลังพัง
สาวๆ ที่ชอบใส่ส้นสูงตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสาวๆ ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ชอบวิ่งบนส้นสูงหรือวิ่งขึ้นลงบันได ทำให้กระดูกนิ้วเท้า เอ็นร้อยหวาย กล้ามเนื้อน่อง เข่าและหลังปวดเกร็งอยู่ตลอดเวลา และจะยิ่งหดเกร็งมากขึ้นตามความสูงของส้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดอาการปวดน่องบ่อยๆ เป็นตะคริว หากใส่รองเท้าส้นสูงนานอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย หรือลุกลามไปเป็นโรคกระดูกทับเส้นได้ เนื่องจากแกนของกระดูกสันหลังและแผ่นหลังจะโน้มไปข้างหน้า เพื่อให้ร่างกายสามารถตั้งตรงและทรงตัวได้บนรองเท้าส้นสูง ทำให้กระดูกบริเวณบั้นเอวรับน้ำหนักมาก ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบั้นเอวหรือหลัง เมื่อสะสมเป็นเวลานานหมอนรองกระดูกอาจเสื่อมหรือเคลื่อนไปทับเส้นประสาทจนอาจเกิดอาการปวดหรือเจ็บแปล๊บเหมือนไฟฟ้าช็อตลงมาที่โคนขาขณะก้มเงยหรือยกของ หากมีอาการปวดดังกล่าวควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง เพื่อตรวจดูความสมดุลของโครงกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก และข้อเข่าว่ามีความผิดปกติที่จุดไหน สามารถตรวจได้ด้วยเครื่อง X-ray EOS เพื่อให้รักษาได้ตรงจุด
5) ลมชักแฝง วายร้ายทำลายสมอง
โรคลมชักเกิดได้ตลอดชีวิต ทุกเพศทุกวัย และมีหลายอาการ อาการที่แสดงไม่จำเป็นต้องชักเกร็งกระตุกเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองในส่วนใดและรุนแรงแค่ไหน บ้างก็มีอาการวูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคลมชักแฝงเชื่อมโยงมาจากโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองฝ่อลง และโรคทางกายอย่างตับไตเสื่อม โรคติดเชื้อ กรรมพันธุ์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร เซลล์สมองผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก หากชักครั้งแรกแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือรักษาทันที อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์สมองได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจกระทบประสิทธิภาพความทรงจำและสมองส่วนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการเฝ้าดูพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นสิ่งจำเป็น และหาสาเหตุได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG เพื่อตรวจหาจุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนที่ผิดปกติ อย่ารอจนสมองถูกทำลายจนอาจรักษาด้วยยาไม่ได้ผล
6) หลอดเลือดสมองอุดตัน รู้ทันป้องกันได้
โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือ Stroke เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับต้นๆ ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด หรือมีคนในครอบครัวเป็น Stroke มาก่อน อาการน่าสงสัย ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หน้าหรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการตรวจเช็กการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง Carotid Duplex เป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงห้ามละเลย
7) อ้วน ลงพุง ริ้วรอยถามหา
ความเครียด ไขมันส่วนเกิน ริ้วรอย ต่างเป็นศัตรูตัวร้ายของสาวๆ โดยเฉพาะไขมันที่สะสมอยู่ใต้ชั้นผิวหนังมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไปหมด จนพุงยื่น เอวโต แขนขาใหญ่ ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในหลอดเลือดสูง เป็นต้น การสะสมของไขมันตามตำแหน่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสรีระพื้นฐานของแต่ละคน ส่วนของไขมันที่อยู่ชั้นใต้ผิวหนังจะลดหรือกำจัดได้ยากกว่าไขมันซึ่งอยู่ในช่องท้อง ถึงแม้เราจะคุมอาหารอย่างเต็มที่และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งสามารถควบคุมน้ำหนักได้ดี แต่ก็ยังมีไขมันส่วนเกินบางตำแหน่งของร่างกาย ทำให้รูปร่างดูไม่สวยงาม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกายโดยไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนวัตกรรมสลายไขมันจากความเย็นและนวัตกรรมสลายไขมันเฉพาะส่วนพร้อมยกกระชับผิวด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงแบบขั้วเดียว ตอบโจทย์ทุกส่วนของร่างกาย ใช้ได้ทั้งผู้หญิง คุณแม่หลังคลอดบุตร หรือผู้ชายที่ถึงแม้จะออกกำลังกายแล้วแต่ซิกแพคไม่ขึ้นชัดเจน
8) ท้องผูกเสี่ยงมะเร็งลำไส้
อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสท้องผูกมากกว่าผู้ชาย 10 : 1 คน ด้วยผลจากฮอร์โมนเพศหญิง ระบบทางเดินอาหารของผู้หญิงทำงานได้ช้า ดื่มน้ำน้อย ยาบางชนิด พฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงความเครียดและความเร่งรีบในชีวิตประจำวันก็เป็นปัจจัยสำคัญ สังเกตว่าแบบไหนถึงเรียกว่าท้องผูก ได้แก่ ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก ถ่ายไม่สุด ต้องใช้น้ำฉีดสวนหรือนิ้วช่วย หากอุจจาระมีเลือด นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามะเร็งลำไส้กำลังถามหา ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหารเพื่อวินิจฉัยโรค ทั้งการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การตรวจการเบ่งอุจจาระ การวัดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูด การฝึกควบคุมและเบ่งถ่ายอุจจาระที่ถูกต้อง
9) กระดูกพรุนลุ้นกระดูกหัก
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนมากผู้ที่เป็นมักจะมาพบแพทย์ด้วยการหกล้มหรือกระแทกไม่รุนแรง แต่กระดูกหักจากกระดูกพรุน โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว กระดูกเปราะบางแม้เพียงหกล้มก็หักได้ง่าย โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตลดลงจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกระดูกสะโพกหัก กระดูกหักง่าย อาการปวดหลังเรื้อรัง หลังค่อมจากการยุบตัวของกระดูกสันหลัง หรือส่วนสูงลดลง ถือเป็นภาวะกระดูกพรุนขั้นรุนแรง การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รับประทาน Calcium L-Threonate เพื่อเสริมความหนาแน่นสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและช่วยยับยั้งการสลายตัวของกระดูก ปัจจุบันมีเทคนิคผ่าตัดเชื่อมกระดูกหักแบบแผลเล็ก ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กระดูกติดดี ฟื้นตัวเร็ว
10) คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม โรคฮิตคนติดจอ
กลุ่มอาการนี้เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนานกว่า 30 – 40 นาที ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาที่ทําหน้าที่ปรับโฟกัสเกร็งตัวผิดปกติ อัตราการกะพริบตาลดลง อีกทั้งแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์และแสงสีฟ้ายังทําร้ายดวงตาให้ผิดปกติได้ นอกจากนี้หน้าจอและตัวอักษรที่เล็กเกินไป การใช้งานในที่แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ หรือในที่จ้ามากไป ล้วนแต่ส่งผลให้ตาล้าง่าย เคืองตา ตาแห้ง แสบตา ปวดตาหรือมองไม่ชัด จากปัญหากล้ามเนื้อตาเกร็งตัวผิดปกติคล้ายเป็นตะคริว เหมือนเพ่งดูใกล้ๆ ค้างนานเมื่อมองไกลจะไม่ชัด เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้ หากตาล้าควรหยุดพักสายตาทุกๆ 20 นาที กะพริบตาให้บ่อยขึ้น หากตายังมีปัญหาควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด ปัจจุบันมี Relex เทคโนโลยีเลสิกไร้ใบมีดแบบแผลเล็ก ตอบโจทย์ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น – เอียง หลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากการใส่คอนแทคเลนส์