วันงดสูบบุหรี่โลก

วันงดสูบบุหรี่โลก

โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่นรณรงค์ต่อต้านพิษร้ายของควันบุหรี่ในวันงดสูบบุหรี่โลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยข้อมูลว่า ในควันบุหรี่เต็มไปด้วยนิโคติน (สารเสพติด) สารเคมี 7,000 ชนิด สารพิษมากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งมากกว่า 70 ชนิด ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง (Second Hand Smoker) ถึงแม้จะไม่ได้สูบเองก็ตาม แต่พิษร้ายจากควันบุหรี่สามารถสร้างความอันตรายไม่ต่างกับสูบด้วยตัวเอง โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ ทารก และเด็กควรหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่หรือสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่

โรคที่เกิดจากควันบุหรี่

  • โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
  • มะเร็งปอด
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ฯลฯ

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดถือเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย จากสถิติทั่วโลกล่าสุดพบว่า ทุกปีมีคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดปีละ 1.8 ล้านคน ในประเทศไทยมะเร็งปอดถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายและอันดับ 4 ในผู้หญิง แม้ว่ามะเร็งปอดไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตอันดับ 1 เนื่องจากมะเร็งปอดเป็นโรคร้ายแรงและมักพบมะเร็งเมื่อเป็นระยะกระจาย

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอด

  • การสูบบุหรี่ รวมไปถึงการสูบบุหรี่มือสอง คือ ไม่ได้สูบเองแต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
  • ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในการเกิดมะเร็งปอด เช่น ก๊าชเรดอน (Radon Gas) เยื่อใยหิน (Asbestos) ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

อาการมะเร็งปอด

  • ไอ
  • เหนื่อยง่าย
  • น้ำหนักลด
  • ไม่มีแรง
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดตามตัวหรือกระดูก

จะเห็นว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้มีแค่มะเร็งและพบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว กว่ามะเร็งจะเกิดอาการมักเป็นระยะท้าย ๆ แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือผู้ที่เลิกสูบน้อยกว่า 15 ปี ตรวจ Low dose CT Chest (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด) ปีละครั้งเพื่อการค้นหามะเร็งระยะแรก (Lung Cancer Screening) ซึ่งจะมีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น ถ้าหากแพทย์ผู้รักษาสงสัยจะส่งตรวจโดยการเจาะเนื้อที่ปอดมาดูเพื่อยืนยันชิ้นเนื้อ หลังยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอดจะมีการทำ CT หรือ PET/CT ร่วมกับ MRI สมองเพื่อวินิจฉัยระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป ถ้าเป็นระยะแรกก็ใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัดขึ้นกับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็งและตำแหน่งของมะเร็งหากเป็นระยะกระจายหรือที่เรียกกันว่า “ระยะที่ 4” นั้นจะใช้การรักษาด้วยยา ซึ่งยาจะมีทั้งเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือยากลุ่ม Immunotherapy ซึ่งถือเป็นยากลุ่มใหม่ที่ใช้รักษามะเร็งปอดและเริ่มมีการใช้มาในช่วง 4 – 5 ปีนี้ เพราะที่ผ่านมาการรักษามะเร็งปอดยังไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคนี้เสียชีวิตเร็วและเพิ่มมากขึ้น

บุหรี่กับหัวใจ

การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหมุนเวียนเลือด โดยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการทำให้หลอดเลือดเสื่อมและตีบตันเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 – 15 ปี และพบว่า 25% ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบคือผู้ที่สูบบุหรี่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่สูบบุหรี่ตายจากโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบเกือบ 3 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค คือ

  • การสูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนขึ้นไปต่อวัน ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงมากขึ้น
  • สูบบุหรี่ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนลงพุง มีเบาหวานด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อัตราการเกิดโรคนั้นสูงมากขึ้นตามลำดับ

โดยปกติแล้วหัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 60 – 80 ครั้งต่อนาที ซึ่งอยู่ในอัตราที่พอเหมาะต่อการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อเราสูบบุหรี่เข้าไปในระยะแรก สารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหัวใจหดตัว นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โดยมีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือดในระยะต่อมา เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของไขมันที่หลอดเลือดจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบแคบลง ส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ และหากเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้สมองเสื่อมนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น เกล็ดเลือดอายุสั้นลง เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น ความข้นของเลือดสูง จึงทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่าย เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงที่มีไขมันเกาะอยู่ชั้นในของหลอดเลือดหรือหลอดแดงที่ตีบอยู่แล้วเกิดการอุดตันได้ในทีทันใด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจเสียชีวิตได้ทันที

โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมให้คำแนะนำแนวทางการหยุดสูบบุหรี่เพื่อลดอัตราการเกิดโรคร้ายแรง เริ่มจากการตัดสินใจที่จะหยุด หันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ รวมทั้งคนรอบข้างก็มีสุขภาพดีด้วย

 

 

Privacy Settings