มะเร็งเต้านม เจอก่อน รักษาก่อน เพิ่มโอกาสรอด

มะเร็งเต้านม เจอก่อน รักษาก่อน เพิ่มโอกาสรอด

มะเร็งเต้านม เจอก่อน รักษาก่อน

เพิ่มโอกาสรอด


 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดของผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การตรวจเต้านมเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะหากเจอก่อน รักษาก่อน ย่อมเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต 

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย โดยพบว่าผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมวันละ 49 คน และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเสียชีวิตวันละ 13 คน


แล้วใครบ้างที่ต้องตรวจหามะเร็งเต้านม…แม้ไม่มีอาการ

ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ผู้หญิงย่อมมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ชายจึงแนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองด้วยการเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรม (Mammogram) ตั้งแต่อายุ 40 ปี และทำเป็นประจำทุกปีแม้ว่าไม่มีอาการใด ๆ 

สำหรับคนไทยซึ่งมีเนื้อเยื่อเต้านมแน่นกว่าชาวยุโรปและอเมริกา ก้อนมะเร็งที่มีสีขาวในแมมโมแกรมอาจถูกบดบังจากเนื้อเต้านมที่มีสีขาวเช่นกัน จึงแนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมควบคู่กับอัลตราซาวนด์เต้านมเพื่อเพิ่มความถูกต้องชัดเจนในการค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้น

อย่างไรก็ตามผู้หญิงส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม การแพทย์แนะนำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้เริ่มตรวจหามะเร็งเร็วขึ้นและด้วยวิธีการที่เหมาะสมดังนี้


การตรวจมะเร็งเต้านมก่อนแสดงอาการ

  • คนทั่วไป
    • ตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม และหากมีเนื้อเต้านมที่แน่นทึบควรตรวจคู่กับอัลตราซาวนด์ ตรวจเป็นประจำทุกปี เริ่มที่อายุ 40 ปี
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ
    • ตรวจด้วยแมมโมแกรมทุกปี ตั้งแต่อายุ 30 ปี และเช่นกันผู้ที่มีเนื้อเต้านมที่แน่นทึบควรตรวจคู่กับอัลตราซาวนด์
    • เริ่มตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เต้านมทุกปี ตั้งแต่อายุ 25 ปี หากไม่สามารถทำได้ให้พิจารณาตรวจแมมโมแกรมพร้อมฉีดสีเข้าเส้นเลือดหรืออัลตราซาวนด์เต้านมทดแทน

*การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมแตกต่างกันตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญ


มะเร็งเต้านม เจอก่อน รักษาก่อน เพิ่มโอกาสรอด

เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรามีความเสี่ยงสูงหรือไม่

National Comprehensive Cancer Network® (NCCN®) ซึ่งเป็นโครงข่ายเกี่ยวกับมะเร็งระดับสากลและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแนะนำให้ประเมินหาระดับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 25 ปี ทางการแพทย์มีโปรแกรมหรือแบบประเมินมากมาย แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ Gail Model ซึ่งบอกความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมใน 5 ปีข้างหน้าและจนถึงอายุ 90 ปี แบบประเมินเหล่านี้ใช้ประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวมาคำนวณเป็นตัวเลขให้เข้าใจมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

ใครมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งเต้านมสูง

  • ผู้ที่มีพันธุกรรมมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งอื่นใดที่เกี่ยวข้องในครอบครัว เช่น BRCA Gene Mutation
  • ผู้ที่เคยมีการเจริญผิดปกติของเนื้อเยื่อเต้านมบางอย่าง โดยทราบจากการเจาะชิ้นเนื้อหรือการผ่าตัดในเต้านม
  • ผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณทรวงอกช่วงอายุ 10 – 30 ปี
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่า 20% ตลอดอายุขัยที่เหลืออยู่
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งแบบลุกลาม (Invasive Breast Cancer) ภายในระยะเวลา 5 ปีสูงกว่าปกติจากการคำนวนด้วย Gail Model

 ทั้งนี้ผู้ที่ทราบความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมของตนเองจะช่วยให้ตรวจเฝ้าระวังได้เหมาะสมและทันท่วงที


ผู้ชายหรือเพศทางเลือกเป็นมะเร็งเต้านมได้ไหม

ทุกคนเป็นมะเร็งเต้านมได้ ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของเต้านมตนเอง ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองก่อนแสดงอาการ หากผิดสังเกตควรรีบมาพบแพทย์

ชายหรือหญิงข้ามเพศมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับประวัติทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจหรือไม่และเมื่อใด


รักษาไวเพิ่มโอกาสรอด

การรักษามะเร็งเต้านมจะได้ผลดีที่สุดเมื่อตรวจเจอมะเร็งเต้านมตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ โดยผลการรักษามะเร็งระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้สูงถึง 95% แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมสม่ำเสมอตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เพราะทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ 

Privacy Settings