มวลกระดูกคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?

มวลกระดูก

กระดูกของคนเราที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอวัยวะในร่างกายที่มีความแข็งแรงที่สุด สุดท้ายแล้วก็แตกหักได้เช่นกัน ถ้าไม่ระมัดระวังดูแลตัวเองให้ดี เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่กระดูกจะแข็งแรงน้อยลงจนเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนนั้นก็มีมากเป็นไปตามธรรมชาติร่างกาย เมื่อผู้สูงอายุหกล้มหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีโอกาสกระดูกหักเป็นอันตรายได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนในวัยหนุ่มสาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถวางแผนป้องกันดูแลรักษาภาวะกระดูกพรุน และลดความเสี่ยงรุนแรงจากการเกิดกระดูกหักได้ ด้วยการตรวจมวลกระดูก เพื่อให้ทราบว่ากระดูกของเราแข็งแรงมากน้อยเพียงใด


 

มวลกระดูกคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?

มวลกระดูก คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงภาวะความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งประกอบไปด้วยปริมาณและคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณนั้น หมายถึงปริมาณแร่ธาตุและสารต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นเนื้อกระดูก เช่น ปริมาณความหนาแน่นของแคลเซียม ซึ่งถ้ามีน้อยก็จะส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อย เป็นต้น ส่วนในเชิงคุณภาพนั้น คือ สภาวะของกระดูกที่มีความพรุนมากหรือน้อย โดยหากมีรูพรุนมากก็จะหมายความว่ากระดูกมีคุณภาพไม่ดี

ดังนั้น การตรวจภาวะของมวลกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบได้ว่า กระดูกของเราแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน เกิดภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ หรือมีความหนาแน่นของแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ ที่ทำให้กระดูกแข็งแรงลดน้อยลงมากแค่ไหน อันนำไปสู่การวางแผนดูแลรักษากระดูกให้แข็งแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ใครบ้างที่ควรตรวจมวลกระดูก

โดยพื้นฐานแล้ว มวลกระดูกของคนเราจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน และในผู้ชายที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อถึงเกณฑ์ดังกล่าว ร่างกายจะสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเพศของผู้หญิงนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียมวลกระดูกโดยตรง จึงทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเตรียมตัวตรวจมวลกระดูก ให้คัดกรองภาวะกระดูกพรุนได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที สามารถแนะนำผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์ได้ดังต่อไปนี้

  • เพศหญิงตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป และเพศชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ แต่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูก มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์ ในการรักษาโรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ หรือ โรค SLE เพราะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้เร็วกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 45 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19

โดยส่วนใหญ่แล้ว การตรวจมวลกระดูกจะทำในผู้สูงอายุ สำหรับวัยหนุ่มสาวทั่วไปอาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ เพราะมีความเสี่ยงกระดูกพรุนน้อยมาก หรือสำหรับในนักกีฬาที่มีการใช้ร่างกายหนัก ๆ ก็เช่นกัน ที่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจมวลกระดูก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสม กระดูกจะยิ่งมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่การออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องข้อต่อ และการบาดเจ็บอื่น ๆ มากกว่า แต่ไม่ได้ส่งผลต่อภาวะกระดูกพรุนแต่อย่างใด

 

Privacy Settings