สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน เกิดจากอะไรได้บ้าง
อย่างที่ทราบกันว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก จึงได้มีการศึกษาจนค้นพบว่า มีความเสี่ยงหลายอย่างที่เป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่โรคกระดูกพรุน ได้แก่
1. อายุ
เนื่องจากเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น กระดูกของเราจะมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อน้อยลง จนทำให้เข้าสู่ภาวะกระดูกเปราะบาง จึงเป็นเหตุให้โรคกระดูกพรุนพบเจอมากเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุ
2. เพศ
จากการศึกษาพบว่า เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน และเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย จะส่งผลต่อเนื้อเยื่อกระดูกอันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้
3. ประวัติครอบครัว
พันธุกรรมมีผลอย่างมากต่อโรคกระดูกพรุน เพราะบุคคลที่มาจากครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน มีโอกาสจะเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไปได้
4. การมีน้ำหนักน้อยเกินไปและขาดสารอาหาร
การที่มีน้ำหนักน้อยเกินไป ซึ่งสามารถประเมินได้จาก BMI และการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินดี และแคลเซียม ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนจากสาเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับกลไกของร่างกาย และลักษณะวิถีชีวิตของเราด้วย
วิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
เมื่อเราเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะเริ่มเห็นแนวทางในการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนหรือภาวะกระดูกเปราะบางได้ ดังนี้
1. รักษาความสมดุลของอาหาร
บริโภคอาหารที่เต็มไปด้วยแคลเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว และมีวิตามินดี ซึ่งสามารถหาได้จาก ปลา ไข่ และการได้รับแสงอาทิตย์ในยามเช้า
2. รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
หนึ่งในวิธีรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมคือการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน การวิ่ง หรือออกกำลังกายโดยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งได้มีการศึกษามาแล้วว่าวิธีเหล่านี้จะช่วยลดภาวะกระดูกพรุนได้
3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น รวมทั้งลดการเกิดกระดูกพรุนได้อีกด้วย
4. ตรวจร่างกายเป็นประจำ
การตรวจร่างกายเป็นประจำจะทำให้ทราบผลเกี่ยวกับความหนาแน่นของมวลกระดูก และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เราสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราให้เหมาะสมมากขึ้นได้
จะเห็นได้ว่าแม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก แต่ก็มีวิธีการต่างๆ มากมายในการป้องกันโรค และเสริมสร้างความหนาแน่นของกระดูก โดยนอกจากปัจจัยทางร่างกาย และพฤติกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน โรคนี้ยังเกี่ยวข้อง และถูกควบคุมด้วยลักษณะพันธุกรรมของเราเช่นเดียวกัน ซึ่งการแสดงออกทางพันธุกรรมเหล่านี้จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ดังนั้นหากเราทราบลักษณะทางพันธุกรรมของเรา ก็จะสามารถระมัดระวัง ตลอดจนลดความเสี่ยง และความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน รวมถึงภาวะความผิดปกติทางกระดูกอื่นๆ ได้อย่างดียิ่งขึ้น