โรคริดสีดวง เปรียบเสมือนฝันร้ายสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะอาการริดสีดวงสร้างความทรมานต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทั้งขับถ่ายได้ยาก มีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนักไปหมด จะลุก นั่ง หรือเดินก็สุดแสนจะลำบาก มาเช็กกันว่า อาการริดสีดวงเริ่มแรกเป็นอย่างไร?
อาการริดสีดวงเริ่มแรก และอาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร?
หลายคนมีอาการเจ็บที่บริเวณรูทวารขณะขับถ่าย หรือขับถ่ายออกมาแล้วเจอเลือดออกมาด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าอาการเจ็บที่เป็นอยู่ใช่อาการริดสีดวงหรือเปล่า เพราะกับขับถ่ายพร้อมเลือดอาจเป็นอาการของโรคร้ายก็ได้ ดังนั้น เรามาสังเกตกันว่า อาการริดสีดวงจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร อาการที่เป็นอยู่เข้าข่ายระยะไหนแล้วบ้าง
อาการริดสีดวง
- ระยะเริ่มแรก : เริ่มสังเกตเห็นเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือมีเลือดเปื้อนบนกระดาษชำระหลังการเช็ดทำความสะอาด โดยในระยะแรกจะยังไม่รู้สึกเจ็บหรือระคายเคือง
- ระยะเริ่มรุนแรง : มีติ่งริดสีดวงทวารยื่นออกมาจากรูทวาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องเบ่งอุจจาระ ไอจาม หรือในช่วงที่ต้องออกแรงยกของหนัก ๆ แต่ก็ยังสามารถใช้นิ้วมือดันกลับให้เข้าที่ได้ ส่วนใหญ่อาการริดสีดวงในระยะนี้มักมีอาการระคายเคือง และรู้สึกเจ็บเล็กน้อย
- ระยะรุนแรง : บริเวณติ่งริดสีดวงที่ยื่นออกมาหรือบริเวณรอบปากทวารหนัก จะเกิดอาการบวม อักเสบ และรู้สึกปวดอย่างรุนแรง จนทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากติ่งริดสีดวงตลอดเวลา จนทำให้เกิดปัญหาอับชื้นและคัน หากปล่อยทิ้งไว้และไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ตรงรอบๆเส้นเลือดทวารหนักเริ่มไม่แข็งแรง ยืดออก เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคริดสีดวงทวาร ในหญิงตั้งครรภ์น้ำหนักของทารกในครรภ์จะเพิ่มแรงกดทับบนทวารหนัก ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวารมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนจากริดสีดวงทวาร
มักไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน แต่อาจเกิดภาวะดังต่อไปนี้ได้
- โลหิตจางหรือภาวะซีด ถ้ามีการเสียเลือดในปริมาณมากบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายขาดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่จะนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อ ส่วนอื่นของร่างกายได้เพียงพอ แต่ภาวะนี้เกิดขึ้นได้น้อย
- ริดสีดวงทวารอักเสบที่มีภาวะขาดเลือดร่วมด้วย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมากจากการขาดเลือดไปเลี้ยงริดสีดวงภายใน
- ลิ่มเลือด ภาวะห้อเลือดที่บริเวณปากทวารเกิดขึ้นจากลิ่มเลือด ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง อาจต้องกรีดและระบายลิ่มเลือดออก
ริดสีดวงทวาร มีวิธีป้องกันอย่างไร
โรคริดสีดวงทวารป้องกันได้ด้วยการทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มอยู่เสมอ สิ่งที่ผู้ป่วยทำได้เพื่อป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของอาการ ได้แก่
- เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มและเพิ่มปริมาตรอุจจาระ ช่วยให้ไม่ต้องเบ่งถ่าย อย่างไรก็ตามควรเริ่มเพิ่มปริมาณผัก ผลไม้ ธัญพืชอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันอาการท้องอืดจากก๊าซในลำไส้
- ดื่มน้ำสะอาดหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ (เว้นแอลกอฮอล์) 6-8 แก้วต่อวันเพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม
- ปริมาณใยอาหารแต่ละวันที่ควรได้รับคือ 20-30 กรัม แต่คนส่วนใหญ่มักรับประทานไม่เพียงพอ ผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหารสามารถช่วยบรรเทาอาการเลือดออกทางทวารหนักและอาการอื่น ๆ ของโรคริดสีดวงทวารหนักได้ ควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้วเมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหารเพื่อป้องกันภาวะท้องผูก
- ไม่เบ่งถ่ายหรือกลั้นหายใจเวลาขับถ่ายเพื่อป้องกันการเพิ่มแรงดันภายในลำไส้ตรงส่วนล่าง
- ไม่ควรกลั้นหรือไม่เข้าห้องน้ำเมื่อรู้สึกอยากขับถ่าย เพราะจะทำให้อุจจาระแห้งแข็ง
- การออกกำลังกายช่วยให้ลำไส้ขยับบีบตัวบ่อยขึ้น เพิ่มความอยากถ่ายอุจจาระ ลดอาการท้องผูก
- จำกัดเวลานั่งขับถ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะคั่งเลือดเป็นเวลานานในเส้นเลือดทวารหนัก