อาการน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง

cancer

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่าง ๆ นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตามอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่

  • มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องตัน
  • มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อย ๆ
  • ไฝ ปาน หูดที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก
  • หายใจหรือมีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
  • ไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด
  • มีเสมหะ น้ำลาย หรือเสลดปนเลือดบ่อย

อาการโรคมะเร็ง

  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือเป็นมูกเลือด
  • ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือมีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • มีไข้ต่ำ ๆ หาสาเหตุไม่ได้
  • มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
  • ผอมลงมากใน 6 เดือน น้ำหนักลดลงจากเดิม 10%
  • มีจ้ำห้อเลือดง่ายหรือมีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
  • ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือแขน/ ขาอ่อนแรง หรือชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
  • ปวดหลังเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจร่วมกับแขน/ ขาอ่อนแรง

การวินิจฉัยมะเร็ง

วินิจฉัยมะเร็ง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งมีหลายวิธี เช่น

  • การตรวจร่างกายด้วยตนเองและโดยแพทย์
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเสมหะ
  • การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การตรวจทางรังสี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การเอกซเรย์เฉพาะอวัยวะ และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษส่องกล้องโดยตรง เช่น การตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหารและลำคอ เป็นต้น
  • การตรวจพิเศษอื่น ๆ

ระยะของมะเร็ง

ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค (การลุกลามและแพร่กระจาย) บอกแนวทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง

โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 – 4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นอีกเป็น เอ (A) บี (B) หรือ ซี (C) หรือ เป็น (1) หรือ (2) เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง

  • ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ/ แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
  • ระยะที่ 2 : ก้อน/ แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/ อวัยวะ
  • ระยะที่ 3 : ก้อน/ แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/ อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
  • ระยะที่ 4 : ก้อน/ แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/ หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ/ หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/ หรือมีหลากหลายต่อม และ/ หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/ หรือ หลอดน้ำเหลือ / กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/ อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/ หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
Privacy Settings