สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง

การตัดถุงน้ำดีร่วมกับการผ่าสำรวจท่อน้ำดี

การตัดถุงน้ำดีร่วมกับการผ่าสำรวจท่อน้ำดี

โรคนิ่วในทางเดินน้ำดี (GALLSTONE or BILIARY STONE)

นิ่วในถุงน้ำดี คือ ภาวะที่มีการตกตะกอนของสารในน้ำดี จนกลายเป็นก้อนนิ่วอยู่ภายในถุงน้ำดี ซึ่งก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดแตกต่างกันได้ในผู้ป่วยแต่ละคน (บางคนเป็นเม็ดเล็กเท่าเม็ดทรายแต่บางคนเป็นเม็ดขนาดใหญ่เท่า ลูกปิงปอง) และผู้ป่วยบางคนอาจมีแค่เม็ดเดียว แต่บางคนก็มีนิ่วหลายเม็ดพร้อมกัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการอะไรแค่ตรวจเจอโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี แต่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีโอกาสแสดงอาการออกมาได้มากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านมา (มีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการกลายเป็นเกิดอาการเพิ่มขึ้น ประมาณ 3% ต่อปี)

ผู้ป่วยโรคนี้จะแสดงอาการออกมาให้เห็นได้ 3 แบบคือ
  1. มีอาการปวดท้องบริเวณด้านขวาบนหรือรู้สึกท้องอืด หลังจากกินอาหาร โดยเฉพาะหลังกินอาหารมันๆ หรืออาหารมื้อใหญ่ โดยอาการปวดไม่รุนแรงมากและสามารถหายได้เอง หลังจากอาหารย่อยเสร็จแล้ว
  2. มีอาการปวดที่เกิดจากนิ่วไปอุดตันในท่อน้ำดีทันที ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องแบบตื้อๆ ที่ด้านขวาบน ความรุนแรงปานกลางถึงมากอาการปวดอาจร้าวไปสะบักขวาหรือลิ้นปี่ จะปวดอยู่นานประมาณ 1-5 ชั่วโมง จากนั้นจะหายเอง
  3. อาการจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ทำให้มีไข้สูง ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง ผู้ที่ตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องผ่าตัด เพียงแต่ให้คำแนะนำถึงข้อแทรกซ้อนที่ อาจจะเกิดขึ้น โดยยังไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ยกเว้นในกรณีผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนั้น หากมีการอักเสบถุงน้ำดีเกิดขึ้น และต้องผ่าตัดฉุกเฉิน จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงอันตรายมากขึ้น

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด (ต้องมีอย่างน้อย 1 ข้อ)

  1. มีอาการแสดงของนิ่วและภาวะแทรกซ้อน
  2. นิ่วขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.
  3. นิ่วจำนวนมาก
  4. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแต่มีภาวะเสี่ยงสูง เช่น มีโรคเรื้อรัง
Privacy Settings