โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hypertrophy)
ต่อมลูกหมากอยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะและรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำหน้าที่สร้างของเหลวและสารที่หล่อเลี้ยงตัวอสุจิให้แข็งแรงสมบูรณ์ที่จะทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ โรคต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบในชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เป็นความผิดปกติที่มีความเจริญทั้งขนาดและจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ ทำให้ขนาดของต่อมลูกหมากขนาดโตขึ้น บีบรัดท่อปัสสาวะให้ตีบ แบน และยาว ทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะ
อาการเริ่มแรกของอาการโรคต่อมลูกหมากโต คือ อาการปัสสาวะบ่อย และ อาการกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ และเมื่อการดำเนินของโรคมากขึ้น อาการของปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะต้องเบ่งใช้เวลานานกว่าจะปัสสาวะหมดก็จะค่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดอาจจะปัสสาวะไม่ออก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ มีปัสสาวะเป็นเลือด เพราะเส้นเลือดของต่อมลูกหมากแตก เนื่องจากจำเป็นต้องเบ่งปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก มีการคั่งค้างของน้ำปัสสาวะ เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาจจะมีนิ่วเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดการเสื่อมของไตได้
แนวทางการรักษาประกอบด้วยการรักษาแบบประคับประคอง จะใช้ในกรณีที่มีอาการไม่มาก และยังไม่มีอาการแทรกซ้อน การใช้ยารักษา การผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะ การผ่าตัดผ่านหน้าท้องหรือหัวเหน่า การรักษาด้วยความร้อนจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ ไมโครเวฟ, คลื่นวิทยุ (Radio Frequency), คลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือเลเซอร์
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด (ต้องมีอย่างน้อย 1 ข้อ)
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นๆ หายๆ
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะลำบากจนรบกวนต่อชีวิตประจำวัน
- ปัสสาวะเป็นเลือด Hematuria
- ปัสสาวะไม่ออก Retention of urine
- ไตเสื่อมหน้าที่จากปัสสาวะคั่ง Renal deterioration