โรคตับแข็ง หมายถึง ภาวะที่ตับทำงานได้ลดลง ซึ่งเกิดจากการที่ตับมีการอักเสบแบบเรื้อรัง นานเข้าเนื้อตับที่ปกติจะเริ่มมีผังผืดเกิดขึ้น จนในที่สุดเนื้อตับที่มีผังผืดมากกว่าปกติก็จะกลายสภาพเป็นตับแข็ง
สาเหตุของโรคตับแข็ง
สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็งมีหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่คือ การดื่มแอลกอฮอล์,ไวรัสตับอักเสบ(ชนิดบีและซี) และภาวะไขมันเกาะตับ
การวินิจฉัย
ต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ได้แก่ การเจาะเลือดตรวจ การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง
อาการแสดง
อาการของโรคตับแข็งมีได้หลายแบบ ขึ้นกับระยะของโรคตับแข็ง แต่ส่วนมากผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมาพบแพทย์ด้วยอาการและอาการแสดงดังต่อไปนี้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะสีเข้มขึ้น (Jaundice)
- ผอมลง น้ำหนักตัวลดลง (Weigth loss)
- สีผิวเข้มขึ้น (Hyperpigmentation)
- ท้องมานน้ำ ท้องโตขึ้น (Ascites)
- ต่อมน้ำลายที่บริเวณกรามทั้งสองข้างโตขึ้น (Parotid gland enlargement)
- ในผู้ชายอาจพบว่ามีลูกอัณฑะเล็กลง (Testicular atrophy) เต้านมโตขึ้น (Gynecomastia)
- ตับม้ามโต (Hepatosplenomegaly)
- จ้ำแดงที่บริเวณฝ่ามือทั้งสองข้าง (Palma erythema)
- เส้นเลือดที่บริเวณรอบสะดือขยาย (Caput medusae) และอาจได้ยินเสียงฟู่ในบริเวณดังกล่าว (Cruveilhier-Baumgarten murmur)
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของตับแข็งมีดังนี้
- ภาวะท้องมานน้ำหรือน้ำในช่องท้อง ( Ascites )
- ภาวะติดเชื้อของน้ำในช่องท้อง ( Spontaneous Bacterial Peritonitis )
- ภาวะเลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารแตก ( Variceal hemorrhae )
- ภาวะไตวายจากโรคตับแข็ง ( Hepatorenal syndrome )
- มะเร็งตับ ( Hepatoma )
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคตับแข็ง
แนวทางในการปฏิบัติตัวมีดังนี้
- ทำความเข้าใจกับตัวโรคที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยโรคตับแข็งนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติ
- ดูแลรักษาสุขอนามัยประจำตัวให้ดีอย่างสม่ำเสมอ
- อาหารที่แนะนำให้รับประทาน มีดังนี้ เช่น
- โปรตีน แนะนำให้เป็นโปรตีนจากปลา ไก่ เนื้อหมูไม่ติดมันและจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา เป็นต้น เพราะผู้ป่วยตับแข็งมักจะรับประทานอาหารได้น้อยจากหลายสาเหตุ เช่น แน่นท้องไวกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร เมื่อถึงจุดหนึ่ง ร่างกายจะใช้โปรตีนเป็นแหล่งพลังงานทำให้เกิดภาวะขาดโปรตีนได้มากขึ้น
- คาร์โบไฮเดรต ได้จากข้าว แป้ง ขนมปัง อย่างเพียงพอเพื่อให้พลังงานกับร่างกาย
- ไขมัน อาหารควรปรุงด้วยไขมันที่เหมาะสม เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น
- วิตามิน สามารถได้รับจากผักผลไม้ที่สะอาด ส่วนวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินดี หรือแคลเซียม จะให้ในผู้ที่เคยมีประวัติเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น สูบบุหรี่ หรือให้ในผู้ที่เคยมีประวัติกระดูกหักมาก่อน เท่านั้น
ข้อสังเกต
ในรายที่ตับแข็งเป็นมาก มีท้องมานน้ำ ขาบวม กดบุ๋ม ต้องรับประทานไข่ขาวสุกให้เพียงพอ ประมาณวันละ 6-10 ฟอง เพื่อเพื่มโปรตีนในเลือดและลดน้ำในท้อง ขาจะยุบบวมเร็วขึ้นและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ด้วย
- อาหารที่พึงหลีกเลี่ยง มีดังนี้
- อาหารเค็มทุกชนิดเช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม เพราะจะทำให้ขาบวมมากขึ้นกว่าเดิม
- อาหารหมักดอง อาหารรสจัด
- อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารดิบ อาหารที่ปรุงไม่สะอาด
- อาหารทะเล เช่น หอยแครง เพราะจะมีเชื้อโรคที่อันตรายต่อผ้ป่วยตับแข็ง
- งดดื่มแอลกอฮอล์ ยาดองเหล้าทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
- งดอาหารเสริมตามท้องตลาดทุกชนิด
- งดสมุนไพร ยาหม้อ ยาต้ม ยาฝุ่น ยาผง ยาฝน ทุกชนิด
- งดรับประทานเห็ด เพราะอาจเป็นพิษต่อตับได้ โดยเฉพาะเห็ดป่า
- ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ ถ้าไม่เพลียหรือเหนื่อยจนเกินไป
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์และสารมะเร็งตับทุก 6 เดือน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับระยะเริ่มต้น และควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์