คุณแม่ตั้งครรภ์กับการทำฟัน

คุณแม่ตั้งครรภ์กับการทำฟัน

คุณแม่ตั้งครรภ์กับการทำฟัน

คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องได้รับการดูแลรักษาทางทันตกรรมเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากมากขึ้น
 

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำฟัน

ก่อนการตั้งครรภ์ ควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี และหากมีปัญหาทางทันตกรรมระหว่างการตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4 – 6 เดือน) จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทำฟัน 

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถดูแลรักษาฟันได้อย่างเหมาะสม 
 

โรคที่พบได้มากในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่

    1. โรคปริทันต์ (Periodontal disease) 

อาการเหงือกอักเสบจะชัดเจนในช่วง ไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone อาการที่พบ จะพบเหงือกบวมแดง เหงือกเลือดออกง่าย และเจ็บปวด จากการศึกษายังพบว่ามีโรคปริทันต์มีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์ 

    2. โรคฟันผุ (Dental caries) 

คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะมีพฤติกรรมการกินอาหารจุบจิบที่มากขึ้น และมีความเป็นกรดในช่องปาก หลังการอาเจียน หรือกรดไหลย้อน ทำให้น้ำลายมีสภาวะความเป็นกรดมากขึ้น อีกทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์บางท่าน ยังมีความไวในการถูกกระตุ้นเวลาแปรงฟัน คือ อาจมีการอาเจียนทุกครั้งเวลาแปรงฟัน เลยอาจทำให้หลีกเลี่ยงการแปรงฟัน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุมากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี มีปริมาณเชื้อก่อโรคฟันผุจำนวนมาก จะมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อก่อโรคฟันผุให้ลูก และทำให้มีลูกมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุเพิ่มขึ้น 

    3. เนื้องอกจากการตั้งครรภ์ (Pregnancy tumor/ Pyogenic granuloma/ Epulis Gravidarum/ Pregnancy granuloma) 

เป็นรอยโรคในช่องปากที่มีลักษณะเหงือกบวมโตอย่างรวดเร็ว คล้ายกับเนื้องอก และเลือดออกง่าย อาจมีขนาดใหญ่ได้มากกว่า 2 มิลลิเมตร มักไม่มีอาการเจ็บปวด บริเวณที่พบได้มากที่สุด คือ บริเวณเหงือกของฟันหน้าบน แต่สามารถพบที่บริเวณ ลิ้น ริมฝีปาก และเพดานปากได้เช่นกัน รอยโรคมักมีสีแดงอมม่วง หรือสีน้ำเงินเข้ม ผิวของรอยโรคอาจเป็นแผลและเลือดออกง่ายเมื่อสัมผัส มักพบช่วงเดือนที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ หากไม่มีอาการมักไม่จำเป็นต้องตัดออก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเจ็บปวด หรือเลือดออกง่ายและรุนแรง กระทบต่อการเคี้ยวอาหารและ การพูด ออกเสียง อาจพิจารณาตัดออก อย่างไรก็ตามการตัดออกในระหว่างตั้งครรภ์อาจจะมีการกลับมาเป็นซ้ำ (recurrence) ของรอยโรคได้ โดยทั่วไปภายหลังจากการคลอด รอยโรคจะมีขนาดเล็กลง หรือหายไปเอง แต่ในบางรายที่ยังมีเนื้องอกหลงเหลือ อาจจะจำเป็นต้องตัดออก 
 

การทำฟันที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงการตั้งครรภ์  

  • การจัดฟัน : สำหรับผู้ที่จัดฟันอยู่แล้ว สามารถจัดต่อได้ แต่ควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี ส่วนคุณแม่ที่วางแผนอยากจัดฟัน ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน รอให้คลอดแล้วค่อยเริ่มทำการจัดฟัน 

  • การฟอกสีฟัน : เนื่องจากน้ำยาฟอกสีฟัน อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ จึงควรรอให้คลอดก่อนแล้วค่อยทำการฟอกสีฟัน 
     

การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์   

  • ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยบีบปริมาณยาสีฟันให้เต็มความยาวของขนแปรง แปรงฟันให้สะอาดทั่วทั้งปากอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 2 นาที และใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟัน 

  • เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุมากขึ้น การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สามารถช่วยป้องกันฟันผุ และลดความเป็นกรดภายหลังจากอาเจียนได้ 

  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง อาเจียน ควรบ้วนปากด้วยน้ำ น้ำยาบ้วนปาก หรือใช้น้ำ 1 แก้ว ผสมผงฟู (เบคกิ้งโซดา) 1 ช้อนชา อมบ้วน เพื่อช่วยลดความเป็นกรดในปาก และไม่ควรแปรงฟันไม่ควรแปรงฟันทันที ให้เว้นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อลดการกัดกร่อนของฟัน 
     

การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์   

การรับประทานอาหารที่เพียงพอ ทั้ง 5 หมู่ มีความสำคัญต่อการสร้างฟันของทารกให้สมบูรณ์ เนื่องจากฟันของทารกเริ่มสร้างที่อายุ 6 สัปดาห์ในครรภ์ และมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ควรเลือกอาหาร และของว่างที่ดีต่อสุขภาพ จำกัดอาหารที่มีการเติมน้ำตาล และหลีกเลี่ยงน้ำหวานหรือน้ำอัดลม  
 

สามารถทำนัดเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ที่แผนกทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น ได้ที่ เบอร์ 043-042-888 หรือ 043-042-837 ได้ทุกวัน

 

ทพญ.พราว โควสุวรรณ
ทันตกรรมทั่วไป (General Dentistry)
Privacy Settings